วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

 

จริยธรรม (Ethics)2


จริยธรรม (Ethics)2
                คำว่า "จริยธรรม" แยกออกเป็น จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายประการ เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น "จริยธรรม" จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า "หลักแห่งความประพฤติ" หรือ "แนวทางของการประพฤติ"
                จริยธรรม เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ มีที่มาจากบทบัญญัติหรือคำสั่งสอนของศาสนา หรือใครก็ได้ที่เป็นผู้มีจริยธรรม และได้รับความเคารพนับถือมาแล้ว
ลักษณะของผู้มีจริยธรรม ผู้มีจริยธรรมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
๑. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
๒. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
๓. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
๔. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
๕. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใด ๆ ได้
                แนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่กำหนดโดยรัฐบาล จากคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรมดังกล่าว แสดงถึงความเป็นคนมีคุณภาพ มีภาวะความเป็นผู้นำ อันเป็นที่ต้องการขององค์การและสังคมทุกระดับ รัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในด้านจริยธรรมและคุณธรรมในสังคม จึงได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๘ โดยเน้นการพัฒนาจิตใจในลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ซึ่งผลที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ มีการเผยแผ่ธรรมะทางสื่อต่าง ๆ มากมาย วัดวาอารามก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมส่วนช่วยในการอบรมสั่งสอนด้วย จริยธรรมเป็น จริยสมบัติ หน่วยงานต่าง ๆ ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี คนไทยวัยหนุ่มสาวและเยาวชนได้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จากที่เห็นได้จากสื่อและข่าวต่าง ๆ เนื่องจากจริยธรรมเป็นคุณสมบุติที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการวัดคุณภาพของคน ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมไว้ดังนี้
                ๑. พัฒนาจิตใจประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ผู้นำแต่ละกลุ่มเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลง
                ๒. ให้สถาบันของสังคมและครอบครัวทำหน้าที่อันถูกต้อง ชอบธรรมของตนเอง แก้ไขข้อบกพร่องโดยรีบด่วน
                ๓. บรรจุการพัฒนาจิตใจในหลักสูตร การฝึกอบรมทุกหลักสูตร และให้ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
                ๔. ให้มีการพัฒนาวิธีปลูกฝัง อบรม สั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นที่น่าสนใจ
                ๕. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของสังคมอันได้แก่ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้องดีงามตามหลักศีลธรรมและจริยธรรม
                นอกจากการพัฒนาของรัฐบาลดังกล่าว องค์การควรได้ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรขององค์การในวิธีเดียวกันในองค์การอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้บุคลากรขององค์การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์ขององค์การและประเทศชาติโดยแท้จริง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีดังกล่าวอาจเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการพัฒนาองค์การ ที่สำคัญก็คือองค์การควรให้มีการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้ดีด้วย ดังเช่นไม่ให้คนมีงานทำมากเกินไป หรือน้อยเกินไป การพิจารณาความดีความชอบให้มีความยุติธรรม และส่งเสริมด้วยมนุษยสัมพันธ์ภายในองค์การด้วย ซึ่งบรรยากาศที่ดีจะช่วยการพัฒนาจิตใจ ในด้านสถาบันการศึกษาก็ควรได้มีการบรรจุหลักคุณธรรมไว้ในหลักสูตร เพื่อเป็นการพัฒนาและให้การศึกษากับคนทั้งชาติ เพื่อการพัฒนาจิตใจของคนในชาติให้มีคุณภาพ
                จริยธรรม หรือ จริยศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาหลักของ วิชาปรัชญา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความดีงามทางสังคมมนุษย์ จำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว จริยธรรม หมายถึง การแยกสิ่งถูกจากผิด ดีจากเลว มาจากคำ 2 คำคือ จริย กับธรรม ซึ่งแปลตามศัพท์ คือ จริยะ แปลว่า ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คำว่า ธรรม แปลว่า คุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เมื่อเอาคำ จริยะ มาต่อกับคำว่า ธรรม เป็นจริยธรรม แปลเอาความหมายว่า กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ
                ความหมายตามพจนานุกรมในภาษาไทย จริยธรรม หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ศีลธรรมอันดี ตามธรรมเนียมยุโรป อาจเรียก จริยธรรมว่า Moral philosophy (หลักจริยธรรม) จริยธรรม น. ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม
ธรรมตามหลักในศาสนาพุทธ
คำว่า ธรรม พระเดชพระคุณพระธรรมโกศาจารย์ หลวงพ่อพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า คือ
ธรรมชาติ
กฎของธรรมชาติ
หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
การได้รับผลตามกฎของธรรมชาติ
                คำว่า ธรรม พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต) กล่าวไว้ว่า คือ สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ สภาวะธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหดุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ ฯลฯ
ที่นำเอาความหมายของคำว่าธรรมที่ท่านผู้รู้กล่าวไว้มาเสนอมากพอสมควรนี้ก็เพื่อความเข้าใจคำว่าธรรม ให้มากขึ้น เพราะเป็นคำที่สำคัญที่สุดและคนทั่วไปมักจะเข้าใจเพียงมัวๆ เท่านั้น
ธรรม หรือสัจธรรม เป็นแม่บท เป็นฐานของทุกอย่าง ต่อจาก สัจธรรม ก็คือสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม อันได้แก่หลักเกณฑ์เกี่ยวกับความดีงาม ซึ่งเป็นความจริงที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ความจริงของมนุษย์ต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ จึงจะเกิดผลสำเร็จได้ด้วยดี
จากนั้นจึงจะมาถึงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นรูปแบบหรือเป็นวิธีปฏิบัติที่จะให้เกิดผลเป็นจริงตามที่มนุษย์ต้องการ
สัจธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา เป็นภาวะของธรรมชาติ
จริยธรรม คือข้อผูกพันที่โยงสัจธรรมนั้นเข้ากับชีวิตและสังคมมนุษย์
วัฒนธรรม คือรูปแบบการปฏิบัติตามจริยธรรมที่ปรากฏในวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์ (วัฒนธรรมไทย สู่ยุคเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ โรงพิมพ์การศาสนา พ.ศ. 2538 หน้า 10)
ความหมายของจริยธรรม
                คำว่า จริยธรรม แยกออกเป็น จริย + ธรรม คำว่า จริยะ หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยา ที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายอย่าง เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น จริยธรรม จึงได้ความหมายตามตัวอักษรว่า หลักแห่ง ความประพฤติ หรือ แนวทางการประพฤติ (พระเมธีธรรมาภรณ์, 2534:74)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามว่า จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อ ประพฤติ ปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม
                ผลการสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เรื่อง จริยธรรมในสังคม ไทยปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ปทุมธานี เมื่อ พ.ศ. 2522 ได้สรุปนิยามไว้ว่า จริยธรรม คือแนวทางประพฤติปฏิบัติตนเพื่อการบรรลุถึงสภาพชีวิตอันทรงคุณค่าพึงประสงค์
                วิทย์ วิศทเวทย์ และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ให้คำนิยามว่า จริยธรรม หมายถึง หลักคำสอน ว่าด้วย ความประพฤติเป็นหลักสำหรับให้บุคคลยึดถือในการปฏิบัติตน (วิทย์ วิศทเวทย์ และเสฐียรพงษ์ วรรณปก, 2530:2)
                ประภาศรี สีหอำไพ (2535:24) ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า จริยธรรม หมายถึงหลัก ความประพฤติที่อบรมกิริยาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้อยู่ในครรลองของคุณธรรมหรือศีลธรรม คุณค่า ทางจริยธรรมชี้ให้ เห็นความเจริญงอกงามในการดำรงชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามวัฒนธรรมของ บุคคลที่มีลักษณะทางจิตใจ ที่ดีงามอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โน้มนำให้บุคคลมุ่งกระทำความดี ละเว้น ความชั่ว มีแนวทางความประพฤติอยู่ในเรื่องของความดี ความถูกต้อง ควรในการประพฤติตนเพื่อ อยู่ในสังคมได้อย่างสงบเรียบร้อยและ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น มีคุณธรรมและมโนธรรมที่จะสร้าง ความสัมพันธ์อันดี โดยมีสำนึกที่จะใช้สิทธิและหน้าที่ของตนตามค่านิยมที่พึงประสงค์
                น้อย พงษ์สนิท (2526:181) ให้ความหมายของคำว่า จริยธรรม ไว้ว่า จริยธรรม คือหลักความดีอัน ควรประพฤติปฏิบัติ โดยนัยนี้จริยธรรมจึงเป็นผลได้มาจากหลาย ๆ ทาง เช่น ประเพณีวัฒนธรรม กฎหมาย เป็นต้น จริยธรรมจึงเป็นบรรทัดฐานของความประพฤติหลายประการ หนึ่งในบรรดาบรรทัดฐานของ ความประพฤติทั้งหลาย เป็นสิ่งกำหนดว่าอะไรควรประพฤติปฏิบัติ อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ว่า ถ้าเช่นนั้น จริยธรรมแตกต่างจากค่านิยม กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ อย่างไร  เพราะสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นตัวกำหนดว่า อะไรควรประพฤติปฏิบัติเช่นกัน จึงขอกล่าวเพิ่มเติมว่า จริยธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ควรนำไปประพฤติเพื่อให้เกิดความดีงาม มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่คุณความดี ส่วนค่านิยมนั้นเป็นเพียงสิ่งที่คนนิยมปฏิบัติกัน
                จริยธรรม คือแนวทางของการประพฤติหรือข้อปฏิบัติตนเป็นคนดีเพื่อประโยชน์สุข ของตนเอง และส่วนรวม ข้อปฏิบัติเหล่านั้นมาจากขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา และปรัชญา จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติที่ชักจูงให้คนทำตามโดยไม่ต้องตั้งคำถามหาเหตุผลว่าทำไมต้องทำ ทั้งนี้เพราะจริยศาสตร์ได้ให้เหตุผลสนับสนุนข้อปฏิบัติอยู่แล้ว หาได้มีเงื่อนไขว่าจะต้องก่อให้เกิด คุณความดีในสังคมไม่ อนึ่งกฎหมายและระเบียบข้อบังคับนั้น เป็นสิ่ง ที่บังคับให้บุคคลกระทำ
                โดยทั่วไปจริยธรรมมักอิงอยู่กับศาสนา ทั้งนี้เพราะคำสอนทางศาสนามีส่วนสร้าง ระบบจริยธรรมให้สังคม ดังคำกล่าวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ว่า จริยธรรมของสังคมไทยขึ้นอยู่กับระบบศีลธรรมของพุทธศาสนา ศาสนาพุทธกำหนดหลักในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันไว้อย่างไร นั่น หมายความว่าได้กำหนดหลักจริยธรรมไว้ให้ปฏิบัติอย่างนั้น
(อ้างใน สุริยา จารยะพันธุ์, 2527:13)
                แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจริยธรรม อิงอยู่กับหลักคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงนั้น จริยธรรมยังหยั่งรากอยู่บนขนบธรรมเนียม ประเพณี
โดยนัยนี้ บางท่านเรียกหลักแห่งความประพฤติอันเนื่องมาจากคำสอนทางศาสนาว่า ?ศีลธรรม? และเรียกหลักแห่งความประพฤติอันพัฒนามาจากแหล่งอื่น ๆ ว่า จริยธรรม ศีลธรรมกับ จริยธรรม จึงเป็นอันเดียวกันในทรรศนะของนักวิชาการกลุ่มนี้ ความแตกต่างอยู่ตรงแหล่งที่มา ถ้าแหล่งที่มาแห่ง ความประพฤตินั้น มาจากศาสนาหรือเป็นข้อบัญญัติของศาสนานั่นเป็น ?ศีลธรรม? แต่ถ้าเป็นหลักทั่ว ๆ ไป ไม่เกี่ยวกับศาสนา คืออาจเป็นคำสอนของนักปรัชญาก็ได้ นั่นเป็น ?จริยธรรม? นักวิชาการกลุ่มนี้พยายามสร้าง จริยธรรมสากล ซึ่งจะเป็นหลักปฏิบัติดำเนินชีวิตของทุกคน โดย ไม่จำกัดว่าเขานับถือศาสนาใด ทั้งยังพยายามบอกว่า คำว่าจริยธรรมเป็นศัพท์บัญญัติ มีความหมายตรง กับคำภาษาอังกฤษว่า Ethics, Ethicality, Ethical Rules ส่วนคำว่า ศีลธรรม เป็นศัพท์บัญญัติที่ตรงกับ ภาษาอังกฤษว่า Morals, Morality
                เป็นที่น่าสังเกตว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ใส่วงเล็บคำว่า Ethics หลังคำว่า จริยศาสตร์ (จริยศาสตร์ (Ethics)) และใส่วงเล็บคำว่า Moral Education หลังคำว่า จริยศึกษา (จริยศึกษา Moral Education) แต่ไม่มีการใส่วงเล็บคำภาษาอังกฤษหลังคำว่า จริยธรรม อันแสดงถึง ความไม่แน่ใจว่า คำนี้ ตรงกับคำใดในภาษาอังกฤษ เมื่อไม่มีการกำหนดให้แน่นอนลงไป บางท่าน จึงใช้คำว่า จริยธรรม ให้หมายถึง Morality เช่น ท่านพุทธทาสภิกขุ ถึงกับกล่าวว่า จริยธรรมก็คือศีลธรรม ซึ่งตรงกับ Morality นั่นเอง
                พระเมธีธรรมาภรณ์ (2534:77) เสนอทรรศนะว่า จริยธรรมไม่แยกเด็ดขาดจากศีลธรรม แต่ก็มี ความหมายกว้างกว่าศีลธรรม ศีลธรรมเป็นหลักคำสอนศาสนาที่ว่าด้วยความประพฤติชอบ อันวางรากฐานอยู่บนหลักคำสอนของศาสนาปรัชญาและขนบธรรมเนียมประเพณี จริยธรรมจึงเป็น ระบบอันมีศีลธรรม เป็นส่วนประกอบสำคัญ
ระบบจริยธรรมนั้น ประกอบด้วย
                1. ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ ของมนุษย์มีส่วนกำหนดโครงสร้างของจริยธรรม เช่น ถ้ามีความเชื่อว่ามนุษย์เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ระบบจริยธรรมจะเป็นไปในลักษณะห้ามมนุษย์เอาเปรียบกัน ถ้ามีความเชื่อว่ามนุษย์มีธาตุแห่งความเป็น พุทธะซ่อนอยู่ ระบบจริยธรรมจะส่งเสริมให้พัฒนาศักยภาพนั้นเพื่อความเป็นพุทธะเบ่งบานเต็มที่
                2. ความเชื่อเกี่ยวกับอุดมคติหรือความดีสูงสุด ให้ความหมายหรือความสมเหตุ สมผลแก่ระบบจริยธรรม เช่น ชาวพุทธฝ่ายมหายานบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพราะเชื่อว่าวิถีชีวิต เช่นนั้น ช่วยให้ตนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในกรณีนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้าจึงเป็นอุดมคติของเขา
                3. ระเบียบปฏิบัติหรือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต ที่ชี้แนะว่าอะไรควรทำอะไร ไม่ควรทำ ทั้งนี้เพื่อพาชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุดหรืออุดมคติ คนส่วนมากมักคิดกันว่า แนวทางแห่ง การประพฤติปฏิบัตินี้เท่านั้นเป็นจริยธรรม ที่แท้จริงจริยธรรมยังประกอบด้วยสิ่งที่กล่าวในข้อ 1 ข้อ 2 และ ข้อ 4
                4. เหตุจูงใจให้คนปฏิบัติดีและเลิกละการปฏิบัติผิด เหตุจูงใจที่ทำให้คนดำเนิน ตามหลักจริยธรรมหรือกฎศีลธรรม มี 3 ประการ คือ
                                4.1 ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุจูงใจให้คนทำดีมีจริยธรรม เพราะถ้าไร้ จริยธรรม สังคมอาจตำหนิหรือคว่ำบาตร กฎหมายอาจลงโทษ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน คนเราจึงมีจริยธรรม ทั้งนี้เพราะเล็งเห็นผลตอบแทนในชาตินี้หรือหวังสวรรค์ในชาติหน้า
                                4.2 ความเคารพกฎกติกาจนเป็นนิสัย ทำให้คนอยู่ในระเบียบวินัย และดำเนิน ตามหลักจริยธรรม คนเราถูกฝึกตั้งแต่เล็กให้เชื่อฟังกฎกติกา เรารักษาสัญญาเพราะเราเห็นว่าสัญญาต้อง เป็นสัญญา ชาวคริสต์มีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจึงปฏิบัติตามพระบัญญัติ ชาวพุทธมีศรัทธาในพระพุทธ เจ้าจึงรักษาศีล
                                4.3 ความมีน้ำใจต่อผู้อื่น อันรวมถึงความรักเคารพผู้อื่น ทำให้คนเรารักษา คำมั่นสัญญา หรือละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น ข้อนี้เองสามารถกล่าวได้ว่า คนดีเพราะมีคุณธรรมประจำใจ
บางครั้งมีผู้แย้งว่า จริยธรรมหรือศีลธรรมมุ่งควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา ไม่รวมไปถึงทางใจ ศีลธรรมไม่ใช่ศีลและธรรม แต่เป็นธรรมขั้นศีล หมายถึง ความสำรวมกาย วาจาให้เรียบร้อย โดยนัยนี้ จริยธรรมทั่วไปจึงมีความหมายแคบกว่าพุทธจริยธรรม ดังที่พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (2529:12-14) กล่าวว่า
                คำว่า จริยะ จริยา ตลอดจนจริยธรรม มีความหมายกว้างกว่า นั้น คือหมายถึงการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ การยังชีวิตให้เป็นไป การครองชีวิต การใช้ชีวิต การเคลื่อนไหวของชีวิตทุกแง่ ทุกด้าน ทุกระดับ ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ... จริยธรรมที่จะพูดต่อไป ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า จะใช้ในความหมายที่กว้างอย่างนี้ แม้แต่ การปฏิบัติกรรมฐานเจริญสมาธิ บำเพ็ญสมถะ เจริญวิปัสสนา ก็รวมอยู่ใน คำว่า จริยธรรม
พุทธจริยธรรมตามแนวที่พระราชวรมุนีแสดงไว้นั้น สอดคล้องกับหลักจริยธรรม ที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม
การชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธพจน์นี้แสดงว่า หลักจริยธรรมในพระพุทธศาสนามิได้สอนเพียงให้หยุด ทำชั่วและให้ทำ ความดีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอีกด้วย
ความหมายของจริยธรรม จริยศาสตร์และจริยศึกษา มีความแตกต่างกันที่กล่าวโดยสรุป ได้ดังนี้
จริยศาสตร์ทำหน้าที่เสนอทฤษฎีแห่งความประพฤติ ส่วนจริยธรรมได้ประมวลหลักปฏิบัติ ที่ควรทำตาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง จริยศาสตร์เสนอเหตุผลและหลักการแห่งความดีให้กับระบบจริยธรรม ส่วนจริยธรรมเสนอวิธีการประพฤติปฏิบัติที่ดี สำหรับปัญหาต่อไปที่ว่า ทำอย่างไรคนจึงจะมี จริยธรรมนั้น เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มุ่งปลูกฝังเจตคติหรือคุณธรรมลงไป ในจิตใจของผู้เรียน เพื่อว่าผู้เรียนจะมีความรู้เรื่องจริยธรรม และยึดหลักจริยธรรมเป็นแนวทาง ดำเนินชีวิตต่อไป
                ความรู้ในจริยศาสตร์อาจช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการของจริยธรรมมากขึ้น แต่จริยธรรม อาจเป็นเพียงความรู้เกี่ยวกับวิธีการดำรงตนเป็นคนที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ ถ้าจริยศึกษาไม่สามารถสร้าง เจตคติและทักษะแก่ผู้เรียน จนนำไปใช้ปฏิบัติการในชีวิตจริง
                ส่วนจริยศึกษา หมายถึงวิธีการอบรมสั่งสอนสมาชิกของสังคม โดยใช้ทฤษฎีต่าง ๆ ความมุ่งหมายในการจัดจริยศึกษาในสถานศึกษาทุกระดับ ก็เพื่อพัฒนาเด็กนักเรียน นักศึกษา ให้เป็น ผู้มีพฤติกรรม อุปนิสัย และบุคลิกภาพ ซึ่งรวมเรียกว่า มีจริยธรรมและคุณธรรมพอเหมาะกับระดับ การศึกษาและวัยของผู้เรียนตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ในการจัดจริยศึกษาเพื่อให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง มีนักวิชาการหลายท่านเสนอทฤษฎีของนักจิตวิทยาที่โลกยอมรับที่สำคัญเช่น ทฤษฎีพัฒนาการทาง จริยธรรม ของลอร์เรนซ์ โคลเบิร์ก ทฤษฎีบุคลิกภาพของอีริกสัน ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ แบนดูรา เป็นต้น (ชำเลือง วุฒิจันทร์, 2524 :70)
                ในทางนิรุกติศาสตร์ คำว่า จริยศาสตร์มาจากศัพท์ ๒ ศัพท์คือ จริยะและศาสตร์ จริยะ หมายถึง ความประพฤติ และศาสตร์หมายถึง ระบบวิชาความรู้ เมื่อรวมทั้ง ๒ ศัพท์เข้าด้วยกันแล้ว จึงเป็นจริยศาสตร์ หมายถึงว่า ระบบวิชาความรู้ว่าด้วยความประพฤติ
ในการศึกษาความประพฤติ มุ่งไปที่ความประพฤติของมนุษย์  ไม่สนใจความประพฤติของสัตว์    เพราะสัตว์ทั้งหลายกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามสัญชาตญาณ โดยไม่รู้ว่า การกระทำนั้นเป็นความดีหรือความชั่ว ดังนั้นการกระทำของสัตว์เดรัจฉาน จึงไม่อาจจัดเป็นการกระทำทางศีลธรรมได้เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ การกระทำของเด็ก ๆ บุคคลที่วิกลจริตและคนปัญญาอ่อน
                 คำว่า จริยศาสตร์นั้นเป็นศัพท์บัญญัติสำหรับแทนคำว่า “Ethics” ในภาษาอังกฤษ คำว่า “Ethics” มาจากคำคุณศัพท์ของภาษากรีก ว่า Ethica ซึ่งมาจากคำนามว่า Ethos คำว่า Ethos นั้นหมายถึง Customs (ธรรมเนียมปฏิบัติ) Usages (ธรรมเนียมปฏิบัติ) หรือ Habits (นิสัย)
                จริยศาสตร์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จริยปรัชญา (Ethical Philosophy)  หรือ ปรัชญาศีลธรรม (Moral Philosophy) คำว่า Moral มาจากคำนามของภาษาลาตินว่า Mores ซึ่งหมายถึง Customs (ธรรมเนียมปฏิบัติ) หรือ Habits (นิสัย) คำทั้ง ๒ คือ ศีลธรรมและจริยศาสตร์เป็นไวพจน์กัน ด้วยว่าคำทั้ง ๒ นี้ อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะได้รับการยอมรับจากกลุ่มชนในสังคม
 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ อาจกล่าวได้ว่า  จริยศาสตร์เป็นศาสตร์อิสระจากปรัชญา    แยกมาเป็นจริยศาสตร์ศึกษา (Ethical Studies) เนื่องด้วยมีวิธีการและข้อมูลที่เพียงพอต่อการศึกษาเช่นกับสุนทรียศาสตร์ (ซึ่งแยกออกจากปรัชญามาก่อนหน้านี้แล้ว)
คำนิยามของจริยศาสตร์
นักวิชาการหรือหนังสือประเภทตำรา พจนานุกรมและสารานุกรมได้ให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของจริยศาสตร์ไว้ดังนี้
                ๑. แมคเกนซี (Mackenzie): จริยศาสตร์ อาจจะนิยามไว้ว่า คือการศึกษาถึงความประพฤติว่าอะไรถูกหรือดี (Ethics may be defined as the study of what is right or good in conduct) เขาขยายความว่า จริยศาสตร์เป็นทฤษฎีทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับความประพฤติและพิจารณาการกระทำของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวกับความถูกหรือความผิด พร้อมทั้งแนวโน้มของการกระทำ ซึ่งจะนำไปสู่ความดีหรือความชั่ว
                คำว่า ถูกมาจากภาษาลาตินว่า Rectus แปลว่า เป็นไปตามกฎ (According to rule) อาทิเช่น เมื่อเราพูดว่า ความประพฤตินั้นถูก เราหมายถึงว่า ความประพฤตินั้นเป็นไปตามกฎ คำว่าดี มาจากภาษาเยอรมันว่า gut แปลว่ามีคุณค่าหรือมีประโยชน์สำหรับจุดหมายปลายทางหรืออุดมคติบางประการ(valuable or serviceable for some end or ideal) อาทิเช่น เมื่อเราพูดว่าความประพฤตินั้นดี เราหมายถึงว่า ความประพฤตินั้นมีประโยชน์ เพื่อจุดหมายปลายทางหรืออุดมคติที่เราเห็นพ้องด้วย เหมือนกับว่ายาดี หมายถึงว่า ยานั้นมีประโยชน์สำหรับรักษาโรค คำว่า ดีที่แท้จริงมิได้ใช้เพื่อหมายถึงว่าเป็นวิธีการที่นำไปสู่จุดหมายปลายทาง  แต่ใช้เพื่อหมายถึงว่าเป็นจุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง
ตามนัยนี้  จริยศาสตร์จึงแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ
                ๑. จริยศาสตร์เกี่ยวกับกฎ (Legal Ethics) จริยศาสตร์ชนิดนี้ เน้นแนวความคิดเรื่องความถูกหรือกฎ ทั้งที่เป็นกฎภายนอก  (กฎของเผ่าชน, กฎของสังคม, กฎของรัฐ, กฎของพระเจ้า) และกฎภายในคือ กฎของมโนธรรม
                 ๒. จริยศาสตร์เกี่ยวกับจุดหมายปลายทาง (Teleological Ethics) จริยศาสตร์ชนิดนี้เน้นจุดหมายปลายทางหรืออุดมคติ (ความดีสูงสุด) อาทิเช่น ความสุข, ความหลุดพ้น, ปัญญา
                ๒. เค. เอ็น. ชยติลเลเก (K.N. Jayatilleke): จริยศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับ ความประพฤติของมนุษย์และศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่ว่าด้วยความดีและความชั่วคืออะไร, ความถูกและความผิดคืออะไร? ความยุติธรรมคืออะไร? และหน้าที่, พันธะและสิทธิคืออะไร? (Ethics has to do with human conduct and is concerned with questions regarding what is good and evil, what is right and wrong, what is justice and what are our duties, obligations and rights.)

                ๓. A Manual of Ethics: จริยศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์เกี่ยวกับนิสัยของมนุษย์ (Ethics means the science of habits of men.)
                ๔. A Manual of Ethics: จริยศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยความถูกและความผิดของความประพฤติ (ของมนุษย์)  (Ethics is the science of rightness and wrongness of conduct)
                ๕. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ ไทย: จริยศาสตร์หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่ง ที่ว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ แสวงหาเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่า อย่างไหนถูก ไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควรและพิจารณาปัญหาเรื่องสถานภาพของค่าทางศีลธรรม
                ๖. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕: จริยศาสตร์ หมายถึง ปรัชญาสาขาหนึ่ง ว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิตว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร
                ๗. Webster’s New World Dictionary: จริยศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานของความประพฤติ และการตัดสินทางศีลธรรม, ระบบหรือประมวลศีลธรรมของบุคคลแต่ละคน ศาสนาแต่ละศาสนา กลุ่มแต่ละกลุ่ม อาชีพแต่ละอาชีพ ฯลฯ ปรัชญาศีลธรรมก็เรียก (Ethics: the study of standards of conduct and moral judgment, the system or code of morals of a particular person, religion, group, profession etc.; moral philosophy.)
                ๘.  Longman  Dictionary  on Contemporary  English  : จริยศาสตร์คือกฎทางศีลธรรมหรือหลักของความประพฤติให้ตัดสินใจว่าอะไรถูก และอะไรผิด  (Ethics: moral  rules  or  principles  of  behaviour  for deciding  what  is right and  wrong.)
                ๙.  Oxford  Advanced  Learner”s  Dictionary  of  Current  English:  จริยศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรม (Ethics:  Science  that  Deals  with  morals.)
๑๐.  The  New  Encyclopaedia  Britannica Volume  4 :  จริยศาสตร์เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปรัชญาศีลธรรม หมายถึง  สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความดีและความชั่ว, ความถูกและความผิดในทางศีลธรรมคืออะไร  (Ethics, also called Moral Philosophy, the discipline concerned with what is morally good and bad, right  and wrong.)
สรุปได้ว่า  จริยศาสตร์เป็นศาสตร์เกี่ยวกับความประพฤติที่เป็นนิสัยของมนุษย์  และศึกษาปัญหาที่ว่าด้วย
                ๑. ความดีสูงสุด (Summum Bonum)  ของชีวิตมนุษย์คืออะไร?
                ๒. เกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ควรไม่ควร 
คืออะไร?
                ๓. สถานภาพของค่าทางศีลธรรม  คืออะไร?
                ๔. ความยุติธรรม  คืออะไร?
                ๕. สิทธิและหน้าที่  คืออะไร?
                ๖. พันธะหรือข้อผูกพัน  คืออะไร?
สาขาของจริยศาสตร์
 สารานุกรมฉบับบริแทนนิกา (Britannica) แบ่งจริยศาสตร์เป็น  ๓ สาขาย่อย       คือ
                ๑. อภิจริยศาสตร์  (Metaethics)     ศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของแนวความคิด
และการตัดสินทางศีลธรรม (Nature of Moral Concepts and Judgments) หรือค่าทางจริยธรรม  ซึ่งในภาษาไทยใช้คำว่า ดีหรือ ถูก”  มี ๓ ทฤษฎีด้วยกัน คือ
                  ๑.๑  ธรรมชาตินิยมทางจริยศาสตร์ (Ethical Naturalism) คือทรรศนะที่ถือว่า      ค่าทาง จริยธรรมอาจอธิบายหรือนิยามได้ด้วยค่าที่ไม่เป็นจริยธรรมหรือด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ถือว่า ความดีคือความสุข กล่าวคือการกระทำความดีคือการกระทำที่ก่อให้เกิดความสุข ทรรศนะเช่นนี้เป็นธรรมชาตินิยม เพราะอธิบายความดีซึ่งเป็นค่าทางจริยธรรมด้วยความสุข ซึ่งไม่ใช่ค่าทางจริยธรรม
                ๑.๒  อธรรมชาตินิยมทางจริยศาสตร์ (Ethical Non- Naturalism) คือทรรศนะที่ถือว่า ค่าทางจริยธรรมอธิบายหรือนิยามด้วยศัพท์อื่นที่บ่งถึงคุณสมบัติmk’ธรรมชาติไม่ได้ เพราะค่าทางจริยธรรมเป็นตัวของมันเอง มิได้เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นที่อยู่นอกวงของจริยธรรม
                ๑.๓  อาเวคนิยมทางจริยศาสตร์  (Ethical Emotivism)       คือทรรศนะที่ถือว่า ค่าทางจริยธรรมคือดี นิยามไม่ได้ เพราะไม่มีความจริงในโลกภายนอกรองรับ เป็นเพียงคำที่เราใช้ เมื่อเราแสดงออกตามความรู้สึกหรืออารมณ์ เป็นความพอใจ    ไม่พอใจที่เรามีต่อสิ่งนั้น หรืออาจจะชักจูงให้คนอื่นพอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งนั้นเหมือนเรา
                 ๒.    จริยศาสตร์บรรทัดฐาน (Normative Ethics)     ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานหรือบรรทัดฐานสำหรับความประพฤติ และสัมพันธ์กับทฤษฎีทั่วๆไปเกี่ยวกับคนเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ปัญหาที่เป็นศูนย์กลางของจริยศาสตร์บรรทัดฐานสมัยปัจจุบันปัญหาหนึ่ง คือการกระทำของมนุษย์ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด เพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ตามผลลัพธ์ที่เกิดมาภายหลังหรือตามกฎเกณฑ์หรือหลักการอันเป็นรูปแบบ ตามประเพณีแล้ว ทฤษฎีที่ตัดสินการกระทำโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ เรียกว่า อันตวิทยา (Teleology) คือทฤษฎีที่คำนึงถึงจุดหมายปลายทางของสิ่งทั้งปวง กล่าวคือผลลัพธ์นั่นเอง อีกทฤษฎีหนึ่งที่ตรงกันข้ามกัน เรียกว่า กรณียธรรม (Deontology) คือทฤษฎีที่คำนึงถึงหลักการอันเป็นรูปแบบหรือเจตนาที่จะทำตามหน้าที่มองว่า จริยศาสตร์บรรทัดฐานเป็นจริยศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่มีการศึกษาอยู่ทั่วไป  ศึกษาเรื่องความดี  ความชั่ว ความถูก ความผิด โดยเน้นไปที่ความดีสูงสุด (Summum Bonum) ของชีวิตมนุษย์ และเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไหนถูก ไม่ถูก ดี ไม่ดี
                 ๓.   จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics)  ในค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นต้นมา การพัฒนาที่เด่นที่สุดในการศึกษาจริยศาสตร์ ซึ่งได้สร้างความสนใจเพิ่มมากขึ้นให้แก่นักปรัชญา คือจริยศาสตร์ประยุกต์  ซึ่งเป็นการนำทฤษฎีทางบรรทัดฐาน (Normative Theories)       มาใช้กับปัญหาทางศีลธรรมอันเป็นเรื่องทางปฏิบัติ อาทิ ความเสมอภาคทางเผ่าพันธุ์และเพศ (Racial and Sexual Equality) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ความยุติธรรม (Justice) ซึ่งทั้ง ๓ เรื่องนี้มีความสำคัญมากในจริยศาสตร์ประยุกต์  คุณค่าของชีวิตมนุษย์  (Value of Human Life)  มีหลายเรื่อง เช่น การทำแท้ง (Abortion) การุณยฆาต (Euthanasia, Mercy Killing) เป็นต้น
                นอกจากนั้น ยังรวมถึง การนำจริยธรรมไปใช้กับการพัฒนาต่างๆ ในเรื่องการสืบพันธุ์หรือการขยายพันธุ์ (Reproduction) เช่น การเพาะอวัยวะภายในที่สำคัญและจำเป็นแก่ชีวิตหรืออวัยวะยังชีพ (Vitro Fertilization) ธนาคารน้ำอสุจิ (Sperm Banks) การยักย้ายถ่ายเทหน่วยถ่ายพันธุกรรม (Gene Manipulation) และการโคลนนิ่ง (Cloning) จริยศาสตร์ประยุกต์เกี่ยวกับการสืบพันธุ์หรือการขยายพันธุ์ดังกล่าวนี้ เรียกว่า ชีวจริยศาสตร์ (Bioethics)  ซึ่งนักปรัชญา   แพทย์  นักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย และนักการศาสนาต้องพยายามร่วมมือกันเข้าไปแก้ไข
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์
                ตามทรรศนะของพระพุทธศาสนา  จริยศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญาณวิทยา  นั้นก็คือความสมบูรณ์ทางจริยะและความรู้มีความจำเป็นต่อกันและกัน ในอัคคัญญสูตร แสดงว่า  ในหมู่เทวดาและมนุษย์  ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้ (วิชชา) และความประพฤติ (จรณะ) เป็นผู้ประเสริฐสุด (วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโ เทวมานุเส)    ดังนั้น   ทั้งความสมบูรณ์ทางจริยะและความรู้จึงเป็นสองด้านของความสมบูรณ์ที่แยกกันไม่ได้
                นอกจากนั้น จริยศาสตร์ของพระพุทธศาสนายังสัมพันธ์กับปรัชญาสังคม (Social Philosophy) ด้วย  นั้นก็คือการพยายามตอบปัญหาที่ว่าเราควรทำอะไร? ปัญหานี้เป็นทั้งเรื่องส่วนบุคคลและเรื่องของสังคม  คำตอบสำหรับปัญหานี้ก็เกี่ยวโยงไปถึงปัญหาที่ว่า เป้าหมายของชีวิตควรจะเป็นอย่างไรหรือว่าคืออะไร  และปัญหาที่ว่าเพื่อแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น  เพื่อการรู้แจ้งตนเองและเพื่อบรรลุถึงความดีสูงสุด  เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร? นี้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับสังคมด้วย  นั้นก็คือเราควรทำอะไรเพื่อความดีของสังคมหรือเพื่อประโยชน์สุขของมนุษยชาติ  แต่ปัญหาทั้งสองนี้ คือปัญหาส่วนบุคคลกับส่วนสังคมก็เกี่ยวข้องกัน
ความหมายของความดีและความชั่ว
                ความดี ตรงกับศัพท์ภาษาบาลีว่า บุญและกุศล ส่วนความชั่วตรงกับภาษาบาลีว่า บาปและอกุศล
 ในทางธรรม  กุศลมีความหมาย ๔ ประการ  คือ
                 ๑. อาโรคยะ ความไม่มีโรค หมายถึง จิตที่มีสุขภาพดี  ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ใช้งานได้ดี
                ๒. อนวัชชะ ไม่มีโทษ หรือไร้ตำหนิ หมายถึง ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด
                 ๓. โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด  หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญา มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง
                 ๔. สุขวิบาก มีสุขเป็นผล หมายถึง เป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข
 ส่วนอกุศลมีความหมายตรงกันข้าม คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค มีโทษ เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นผล
 บทสนทนาระหว่างพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระอานนท์ในมัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์ แสดงความหมายของความดีความชั่ว โดยแต่ละประเด็นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ดังนี้
 พระราชา   : พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจ ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้คืออย่างไหน ?
 พระอานนท์ :  คือ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่เป็นอกุศล  มหาบพิตร
 พระราชา  :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่เป็นอกุศล คืออย่างไหน
 พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีโทษ
 พระราชา  :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีโทษ คืออย่างไหน
 พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีความบีบคั้น
 พระราชา : ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีความบีบคั้น  คืออย่างไหน
 พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีทุกข์เป็นผล

 พระราชา :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีทุกข์เป็นผล คืออย่างไหน
พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนก็ดี  เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ดี  เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายก็ดี  ที่อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญแก่เขา กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมถอยไป มหาบพิตร  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจอย่างนี้แล  ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู จะพึงกล่าวโทษได้
                จากนัยนี้ ความชั่วจึงหมายถึงความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจ  ซึ่งประกอบด้วย
                 (๑) ที่เป็นอกุศล
                 (๒) ทีมีโทษ
                 (๓) ที่มีความบีบคั้น
                 (๔) ที่มีทุกข์เป็นผล
                 (๕) ที่วิญญูชนจะพึงกล่าวโทษได้คือติเตียน ตำหนิได้
ส่วนความหมายของความดีมีนัยตรงกันข้าม ดังนี้
                 พระราชา   : พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจ ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ไม่พึงกล่าวโทษได้คืออย่างไหน ?
พระอานนท์ :  คือ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่เป็นกุศล  มหาบพิตร
พระราชา  :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่เป็นกุศล คืออย่างไหน
พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่ไม่มีโทษ
พระราชา  :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่ไม่มีโทษ คืออย่างไหน
พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่ไม่มีความบีบคั้น

 พระราชา : ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่ไม่มีความบีบคั้น  คืออย่างไหน
พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีสุขเป็นผล
พระราชา :  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่มีสุขเป็นผล คืออย่างไหน
 พระอานนท์ : คือความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนก็ดี  ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นก็ดี  ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายก็ดี  ที่กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญแก่เขา อกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเสื่อมถอยไป มหาบพิตร  ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจอย่างนี้แล  ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญู ไม่พึงกล่าวโทษได้ จากนัยนี้ ความดีจึงหมายถึงความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา ความประพฤติทางใจ ซึ่งประกอบด้วย
                (๑) ที่เป็นกุศล
                (๒) ที่ไม่มีโทษ
                (๓) ที่ไม่มีความบีบคั้น
                (๔) ที่มีสุขเป็นผล
                (๕) ที่วิญญูชนไม่พึงกล่าวโทษได้คือไม่พึงติเตียน ไม่พึงตำหนิได้
สาระสำคัญหรือหัวใจของพุทธจริยศาสตร์
พุทธจริยศาสตร์สรุปได้ด้วยพุทธโอวาท  ๓  ประการ  ซึ่งรวมอยู่ในโอวาทปาติโมกข์  ที่ทรงแสดงไว้ในวันเพ็ญเดือน ๓  ที่บัดนี้เรียกว่า วันมาฆบูชา  ได้แก่
                ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ                     การไม่ทำความชั่วทั้งปวง คือศีล
                ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา                        การทำแต่ความดี คือสมาธิ
                ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ                          การทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ คือปัญญา


เกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่ว
                 ปัญหาที่ว่า จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่วของการกระทำเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมากในทางจริยศาสตร์ ดังนั้น ผู้เขียนจึงรวบรวมเกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่ว จากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในคัมภีร์และมติของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ไว้ดังนี้
                ๑.  เกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่วตามหลักอธิปไตย ๓
                                ๑.  อัตตาธิปไตย  ได้แก่ ความสำนึกผิดชั่วดีของตนเอง
                                ๒.  โลกาธิไตย   ได้แก่ สิ่งที่คนทั่วไปยอมรับว่าดีหรือชั่ว
                                ๓. ธรรมธิปไตย ได้แก่ สิ่งที่ดีหรือชั่วตามธรรม
                ๒.  เกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่วในกาลามสูตร
                พึงรู้ด้วยตนเองว่า
                                ๑.  สิ่งเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล
                                ๒.  สิ่งเหล่านี้เป็นคุณหรือโทษ
                                ๓.  สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์
                                ๔.  สิ่งเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญหรือติเตียน
ต่อจากนั้นแล้ว จึงควรละเว้น หรือถือปฏิบัติตามนั้น
                ๓.  เกณฑ์ตัดสินความดี ความชั่วตามมติของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)
ก.  เกณฑ์หลัก
                ๑.  ตัดสินด้วยความเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
                -   พิจารณามูลเหตุว่า เป็นเจตนาที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือเกิดจาก
อกุศลมูลคือ โลภะ โทสะ โมหะ
                 - พิจารณาตามสภาวะว่า เป็นสภาพที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจหรือไม่ ทำให้จิตสบาย ไร้โรค ปลอดโปร่ง ผ่องใส สมบูรณ์ หรือไม่ ส่งเสริมหรือบั่นรอนคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ช่วยให้กุศลธรรม (สภาพที่เกื้อกูล) ทั้งหลายเจริญ งอกงามขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายลดน้อยลง หรือทำให้กุศลธรรมลดน้อยลง อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น ตลอดจนมีผลต่อบุคลิกภาพอย่างไร
                ข.  เกณฑ์ร่วม
 ๒.  ใช้มโนธรรม คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองพิจารณาว่า การที่กระทำนั้น ตนเองติเตียนตนเองได้หรือไม่ เสียความเคารพตนหรือไม่
 ๓.  พิจารณาความยอมรับของวิญญูหรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชน ว่าเป็นสิ่งที่วิญญูยอมรับหรือไม่ ชื่นชมสรรเสริญ หรือตำหนิติเตียน
๔.  พิจารณาลักษณะ และผลของการกระทำ
                -  ต่อตนเอง
                -  ต่อผู้อื่น
ก)  เป็นการเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น ทำตนเองหรือผู้อื่นให้เดือดร้อนหรือไม่
ข)  เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข หรือเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
อภิจริยศาสตร์
        แนวความคิดของนักจริยศาสตร์ทางด้านอภิจริยศาสตร์อาจแบ่งออกเป็นพวกใหญ่ ๆ  ได้  3  พวกคือ
        1.  ธรรมชาตินิยม  (Naturalism)
        นักปรัชญาพวกนี้ให้ความรู้เรื่องความดีคืออะไร  จะให้คำจำกัดความคำว่า  ความดี”  นั้นได้  หรือไม่  พึงพิจารณาดังนี้
        ความดีคืออะไร  นักปรัชญากลุ่มนี้ให้คำจำกัดความไว้ว่า  ความดีเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับสิ่งอื่นโดยให้คำจำกัดความว่า  ความดีคือความเห็นชอบ”  หรือสิ่งที่ดีคือสิ่วที่ก่อให้เกิดความสุข
        พวกธรรมชาตินิยมถือว่า  ความเห็นชอบของสังคมเป็นปรากฏการณ์ของสังคมเป็นธรรมชาติของสังคม  จึงเอาคำเหล่านี้มาให้คำจำกัดความของความดี
        เราอาจพูดได้มากมายว่า  ความดี  คือ  สิ่งที่ทำให้สังคมมีระเบียบ”  “ความดีคือความสงบเย็นของสังคม”  “สิ่งที่ไม่ดี  คือ  สิ่งที่ทำให้สังคมสับสนวุ่ยวาย”  สิ่งที่ดีคือสิ่งที่ทำให้เราเย็นสบาย”  การกระทำที่ไม่ดี  คือ  การกระทำที่ก่อความทุกข์ยากให้แก่สังคม  เป็นต้น
        ทั้งหมดนี้เป็นการให้คำจำกัดความของคำว่า  ดี หรือ ไม่ดี  แบบธรรมชาตินิยม  คือเอาเรื่องธรรมชาติมาเกี่ยวข้องด้วย  และเอาธรรมชาติเป็นเครื่องวัดเสมอ
        นักธรรมชาตินิยมเห็นว่า  ค่าทางจริยะ  คือ  ดีถูกควร  ไม่ดี  ไม่ควร  มิได้มีเองเป็นเองโดยตัวของมัน  แต่มันต้องอาศัยธรรมชาติหรือข้อเท็จจริงประกอบ  เช่นพูดว่า  นาย ก. ดี เพราะมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  นั่นหมายความว่า  ความดีของนาย  ก.  ขึ้นอยู่ที่  นาย ก.มีมนุษย์สัมพันธ์ดี  ไม่ใช่นาย  ก.  ดีเองได้
        2.  อธรรมชาตินิยม
        นักปรัชญากลุ่มนี้ถือว่า  ความดี  ความถูก  ความควร  ความไม่ควร  ความไม่ดี  ไม่ถูกเป็นอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติแต่อย่างใดเป็นคุณสมบัติของสิ่ง  ๆ  นั้นพวกนี้เห็นว่า  การกระทำที่ดีไม่จำเป็นต้องให้สังคมมีความสุข”  “การกระทำที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่พอใจ” “ความดีก็คือความดี  ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเช่น  เราอาจพูดได้ว่าความดีคือความถูกต้องเหมาะสม”  หรือว่า  ความดีคือความสวยงามเป็นต้น
        พวกอธรรมชาตินิยมถือว่า  ค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งเชิงเดี่ยว  ความดีเป็นสิ่งที่มีดีในตัวเอง  ความดีไม่เป็นเชิงซ้อน  ซึ่งมีส่วนประกอบหลายส่วน  เช่น  ม้า  วัว  ควายเป็นเชิงซ้อนได้ง่าย  แต่สิ่งที่เป็นเชิงเดี่ยว  เช่น  ความดี  ความชั่ว  นิยามได้โดยอาศัยตัวมันเองแต่ไม่ได้ขยายความออกไปอย่างใด
        3.  อารมณ์นิยม  (Emotionism)
        ตามทรรศนะของนักปรัชญาอารมณ์นิยมถือว่า  ความดี  ความชั่ว  ไม่มีจริง  ความถูกผิด  ควรไม่ควร  ไม่มีจริง  การพูดถึงเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ  การพูดว่าดี  ไม่ดี  ถูกไม่ถูก  ควรไม่ควร  เป็นเรื่องของอารมณ์แต่ละคน  เช่น  ก็พูดว่า  เป็นการกระทำดี  ข.จะพูดว่า  เป็นการกระทำไม่ดีตามทรรศนะของอารมณ์นิยมจะเห็นว่าทั้ง ก.  และ  ข.  ไม่มีใครผิดใครถูกทั้ง  ก. และ ข. ต่างพูดตามอารมณ์ตามความชอบใจของแต่ละคน
        เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วแนวคิดของนักจริยศาสตร์ทั้ง ๓  มีดังนี้
        1. ธรรมชาตินิยม เห็นว่าความดีมีจริงโดยอาศัยธรรมชาติ ความดีหรือค่าทางจริยเป็นสิ่งเชิงซ้อนให้คำจำกัดความของความดีได้โดยอาศัยธรรมชาติ ความดีจึงมีลักษณะสัมพันธ์ คือ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นสำคัญ
        2. อธรรมชาตินิยม เห็นว่าความดีหรือค่าทางจริยะมีจริง การนิยามความดีมีไม่ได้เพราะความดีเป็นสิ่งเชิงเดี่ยว การโต้เถียงทางจริยะเป็นสิ่งที่มีความหมาย คือ ถ้า ก. ว่า นาย ข.ดี เพราะเขามีความเมตตา ค. ว่านาย ข. ไม่ดีแม้มีความเมตตา
        กรณีนี้ต้องมีคนหนึ่งถูกคนหนึ่งผิด คือ ถ้า ข. มีเมตตาจริง ข. ก็ เป็นคนดี เพราะความดีมีจริง ก. ก็ถูก ส่วน ค. ที่ว่า ข.ไม่ดีก็เป็นฝ่ายผิด เพราะตามความจริง ข.เป็นคนดีจริง
        3.อารมณ์นิยม เห็นว่าความดีความชั่วหรือค่าทางจริยะไม่มีจริงการพูดเรื่องจริยะเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีอะไรดีในตัวมัน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของแต่ละคนการนิยามค่าทางจริยะทำไม่ได้เลย เพราะความดีความชั่วหรือค่าทางจริยะไม่มีเลย จึงไม่รู้จะเอาอะไรมานิยาม
๓.๔ อุดมคติของชีวิต
        อุดมคติของชีวิตนี้ มีนักปรัชญาเมธีหลายกลุ่มหลายสำนัก แสดงความคิดเห็นต่าง ๆกันแต่จะนำมากล่าวในที่นี้เพียง 2 สำนัก คือ
        1.สุขนิยม (Hedonism)
        นักปรัชญาสมัยสุขนิยมเห็นว่า สิ่งที่ดีในชีวิตคือ ความสุขสิ่งอื่นอาจพอจะถือว่ามีความดีก็เพราะสิ่งนั้นพาความสุขมาให้คนเท่านั้น นักปรัชญากลุ่มนี้มีหลายคน เช่น
      ซิกมันด์   ฟรอยส์  (Sigmund Freud 1856-1936)
            ซิกมันด์ฟรอยส์มีทรรศนะว่า ในคำถามที่ว่า การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์เขา มีจุดมุ่งหมายหรือมีความ  ตั้งใจอะไรในชีวิต อะไรคือสิ่งที่ต้องการและปรารถนาจะบรรลุถึงคำตอบก็คือ มนุษย์แสวงหาความสุข เขาต้องการได้รับความสุข และรักษามันไว้ หรือจะตอบอีกนัยนึ่งว่า เขาแสวงหาสองด้าน คือ ด้านหนึ่งทางความสุขสบาย อีกด้านหนึ่งหาทางพ้นทุกข์    พวกสุขนิยมจึงถือว่า  สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ หรือสิ่งที่มนุษณ์ต้องการและแสวงหามามากที่สุดก็คือ ความสุข
            เบ็นธัม ( Bentham  1748-1832 )
                  เบ็นธัม นักปรัชญาชาวอังกฤษ เป็นนักปรัชญาสุขนิยมคนหนึ่ง  เขากล่าวว่า ธรรมชาติได้จำกัดมนุษย์อยู่ภายใต้การบงการของนายที่มีอำนาจเต็ม  2 นาย คือ ความเจ็บปวดและความสุขสบาย เพื่อสิ่งทั้งสองนี้เท่านั้นที่เราพูดได้ว่า เราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร นายทั้งสองคนนี้จะควบคุมการกระทำ การพูด การคิด ทั้งหมดของเรา ความพยายามที่เคราพยายามจะพ้นจากมันคือ  ความผูกพันกับมันมากขึ้น  บางครั้งเราคิดว่า เราพ้นจากมันไปแล้ว แต่ที่จริงก็ตกอยู่ในอำนาจของมันตลอดเวลา
              แต่การหาความสุขบางครั้งก็ต้องมีความสุขบางครั้งก็ต้องมีความทุกข์เจือปนอยู่  เช่นเรานั่งอยู่ในห้องเรียนแม้จะร้อนอุดอู้ เราก็ต้องทน เพราะเราได้ประโยชน์จากการเรียน หรือการที่เราจำเป็นต้องฉีดยาแม้จะเจ็บปวด แต่เราก็ต้องทำ เพราะต้องการหายจากโรค  หรือการที่เราจำเป็นต้องผ่าตัดแม้จะเจ็บปวด แต่เราก็ต้องทำ เพราะต้องการหายจากโรค เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความทุกข์ทั้งนั้น แต่ก็ทุกข์เพื่อความสุขนั่นเอง
              นักปรัชญาจารวาทของอินเดียกล่าวว่า จุดหมายอย่างเดียวของมนุษย์คือ ความสุขที่ได้จากประสาทสัมผัส ท่านไม่ควรกล่าวว่า ความสุขมิได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่คนปรารถนาเพราะความทุกข์เจือปนมาก  เราน่าจะฉลาดพอที่จะหาความสุขที่บริสุทธิ์เท่าที่จะมากได้และหลีกเลี่ยงความทุกข์ที่จะตามมา ดุจดังคนที่อยากกินปลา ก็ต้องหาปลามาทั้งตัวแล้วก็ปรุงแต่งเลือกกินแต่ส่วนที่พอใจ  จงอย่าให้ความกลัวความทุกข์มาขัดขวางการหาความสุขซึ่งสัญชาตญาณบอกเราว่า  เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
        เอพิคคิวรัส  (  341-270  B.C.)
              เอพิคคิวรัส  เป้นนักปรัชญาชาวกรีก  มีทัศนะว่า  ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์  เขากล่าว่า จุดหมายของการกระทำทั้งปวงของเราอยู่ที่การหลุดพ้นจากทุกข์ความกลัว  เมื่อเราบรรลุถึงสิ่งนี้แล้ว เราก็สบายใจ ความสุขสบายเป็นเนื้อหาของชีวิตที่สมบูรณ์ความสุขเป็นสิ่งประเสริฐหลักและประเสริฐรองของเราทั้งนั้นมิได้หมายความว่า  ความสุขอะไรก็ได้ที่เราแสวงหา  บางครั้งเราอาจต้องแสวงหาความทุกข์บ้างเพื่อจะได้ความสุขมากกว่า
           เอพิคคิวรัสให้ความเห็นว่า  ชีวิตที่มีความสุขนั้น  จะต้องเป็นชีวิตที่มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ หาความสุขผ่านไปวัน ๆ โดยไม่ต้องมีความทะเยอทะยาน ไม่ต้องรับผิดชอบไม่ต้องมีอุดมคติใด  ชีวิตที่อยู่อย่างอิสระ  ไม่มีความสัมพันธ์และผูกพันกับสิ่งใด ๆ เป็นชีวิตที่มีความสุขที่สุด เพราะชีวิตที่ไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องใด ๆ
         ตามทัศนะของพิคครัสจึงถือว่า ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด คือชีวิตที่อยู่อย่างง่าย ๆ และสงบ เป็นชีวิตที่ไม่ผูกพันกับสิ่งใด ๆ เป็นชีวิตที่มีอิสระ ไม่มีเรื่องต้องกังวลใจการกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่การมีชีวิตง่าย ๆ และสงบนี้ จึงเป็นกระกระทำที่ถูกและควร
         มิลส์  (  Milles  1806-1875 )
         มิลส์ เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษเขาพยายามปรับปรุงความเชื่อทางสุขนิยมให้น่าเชื่อถือขึ้น  โดยแต่เดิมพวกสุขนิยมถือว่า  ความสุขนั้นไม่ว่าจะเกิดจากอะไร  ความสุขก็เหมือนกัน  เช่น  ความสุขของคนในเมืองใหญ่  โดยการมีเงินมีบริวารมาก  ก็เหมือนกับความสุขของคนที่อยู่ในป่าคนเดียว  ทำให้เข้าใจว่า  ถ้าเช่นนั้นความสุขของคนกับของสุกรก็ไม่ต่างอะไรกัน  มิลส์จึงเพิ่มเติมโดยแนะนำว่า  ความพอใจของสัตว์ไม่อาจสนองความสุขของมนุษย์ได้  มนุษย์มีสมรรถนะที่มีระดับสูงกว่า  ความพอใจของสัตว์และเมื่อได้ใช้สมรรถนะเหล่านี้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะไม่ถือว่าสิ่งใดมีความสุข นอกจากสิ่งนั้นจะสนองความพอใจของสมรรถนะเหล่านั้น
             มิลส์เห็นว่า  ความสุขที่เกิดจากความเข้าใจทฤฤษฏีของไอนสไตน์นั้นสัตว์มีไม่ได้เป็นความสุขที่มีความสุขที่มีคุณภาพสูงกว่าการกินแกงอร่อย  มิลส์เห็นว่ามนุษย์กับสัตว์มีความสุขบางอย่างที่มีได้เหมือนกันเช่น การกิน  การนอน  การสืบพันธุ์  แต่มนุษย์มีความรู้ความสุขบางอย่างที่สัตว์มีไม่ได้  เช่น  ความสุขจากความสงบใจ  ความสุขจากความไม่เห็นแก่ตัว  ถ้ามนุษย์พบกับความสุขจากความสงบใจแล้ว  เขาก็ไม่กลับไปหาความสุขจากความวุ่นวาย  เช่น  ความสุขจากรสต่าง ๆ อีก เพราะความสงบใจเป็นความสุขที่ถาวรไม่มีเหยื่อล่อ  ( นิรามิสสุข )
2.   อสุขนิยม  ( Non  Hedonism )
               อสุขนิยม   ทัศนะที่ถือว่าความสุขไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต  มีสิ่งอื่นที่มีค่ามากกว่าความสุข  เช่น  ความสงบของจิตและปัญญาความรู้  พวกอสุขนิยมแบ่งเป็น  2 พวก      
1.  ปัญญานิยม
        นักปรัชญาปัญญานิยมที่ถือว่า ปัญญาดีที่สุดของมนุษย์ ได้แก่ โสเครตรี ( 469-339 B.C ) พลาโต  ( 427 –347 B.C.)  อริสโตเติล  ( 384-322 B.C. )  แนวคิดโดยสรุปของนักปราชญากลุ่มนี้คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมมีลักษณะเฉพาะของมันเป็นลักษณะที่ทำให้สิ่ง ๆ หนึ่งเป็นตัวของมันเอง  แยกออกได้จากสิ่งอื่น ๆ ลักษณะเฉพาะที่มีประจำในแต่ละสิ่งนี้เรียกว่า สระ ของสิ่ง ๆ นั้น เช่น  มีดต่างจากฆ้อน เพราะมีดมีคม  ใช้ฟัน  ใช้ตัดส่วนฆ้อนไม่มีคม  ใช้ทุบ ใช้ตี  ความคมจึงเป็นลักษณะของมีด มีดมีคมใช้ตัดใช้ฟันได้ดีย่อมเป็นมีดที่ สมบูรณ์
ส่วนคน สมมุติว่า นาย ก. เป็นครูที่มีความสามารถในการสอนดี สอนเก่งเป็นพิเศษ มีเทคนิคในการสอนให้นักเรียนเข้าใจง่าย การสอนดีเป็นคุณลักษณะของนาย ก.ถ้านาย ก. ประสบอุบัติเหตุไม่สามารถทำการสอนต่อไปได้ แต่ไม่ถึงตาย ชีวิตการเป็นครูของนาย ก. ก็สิ้นสุดลง การสอนดี เก่ง ก็ไม่เป็นคุณสมบัติของนาย ก. อีกต่อไป
ในกรณีเช่นนี้ สาระของชีวิตอยู่ที่ไหน ฉะนั้นสิ่งที่เราจะพิจารณาถึงสาระของชีวิต ต้องพิจารณาในฐานะเป็นคน ไม่ใช่พิจารณาฐานะอื่นจากความเป็นคน เช่น การสอนเก่ง การเรียน เก่ง การเล่น กีฬาเก่ง เป็นต้น
อริสโตเติลกล่าวว่า เพียงแต่การดำรงชีวิตไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของมนุษย์เพราะพืชและสัตว์ก็เป็นเช่นนั้นได้ กล่าวคือ
        -มนุษย์ สัตว์ พืช มีการกิน การเติบโต การขยายพันธุ์ เหมือนกัน
        -มนุษย์ และสัตว์ต้องมีการรับรู้ทางประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหว ความรู้สึกต้องการเหมือนกัน
        -แต่มนุษย์ มีลักษณะพิเศษต่างจากสัตว์ มนุษย์มีปัญญา มีวัฒนธรรม มีศิลปะแต่สัตว์ไม่มี
        อริสโตเติล มีความเห็นคล้ายกับพลาโต แต่พลาโตได้แบ่งวิญญาณหรือ ความรู้ออกเป็น  ภาค คือ
        1.ปัญญาภาคหนึ่ง เป็นภาคที่ต่ำที่สุดคือปัญญาซึ่งทำให้มนุษย์รู้จักหิว รู้จักสืบพันธุ์ปัญญาภาคนี้สัตว์ก็มีเหมือนมนุษย์ได้
        2.ปัญญาภาคที่สอง เป็นภาคที่มนุษย์รู้จักเกียรติยศ ชื่อเสียง มีความกล้าหาญ อดทนแข็งแรง เป็นภาคที่เรียกว่าน้ำใจ
        3.ปัญญาภาคที่สาม เป็นภาคสูงสุด เป็นปัญญาที่แท้จริง เป็นปัญญาขั้นที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้
        อริสโตเติลและพลาโต้มีทัศนะตรงกันว่า ปัญญาเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์เป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหาอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่นำมนุษย์ไปสู่ความต้องการทุกอย่าง ปัญญานำมนุษย์ให้เข้าถึง สัจธรรมได้ ทั้งอริสโตเติลและพลาโต เห็นว่า สัจธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ บุคคลจะสามารถค้นพบสัจธรรมได้ด้วยปัญญา
        ปรัชญากลุ่มนี้เห็นว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ดีที่มนุษย์แสวงหา เพราะถ้าความสุขดีที่สุดแล้ว คนก็ไม่ต่างจากสัตว์เพราะสัตว์ก็มีความสุขได้ มนุษย์จึงเป็นเพียงสัตว์ที่สมบูรณ์ไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์
        “ความสุขไม่ใช่สิ่งที่มีค่าในตัวเอง แต่ถ้าคนไม่มีความสุข คนก็ยากที่จะทำได้ด้วยปัญญาได้ ดังนั้น ความสุขจึงเป็นทางให้เกิดปัญญา แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป เพราะถ้าบางครั้งเมื่อ คนมีความสุขก็ยิ่งทำให้คนห่างปัญญามากขึ้น ความสุขจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์
        โสเครติส ย้ำเสมอว่า ปัญญาคืออำนาจ ปัญญาคือ ธรรม (Knowledge is Virtue) ไม่มีใครเป็นคนดีได้โดยปราศจากความรู้ชีวิตที่ใช้ปัญญาแสวงหาสัจธรรมไม่ใช่ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยหรูหรา หาความสุขทางโลกีย์
        2.วิมุตินิยม
        ตามทรรศนะของวิมุตินิยมถือว่า ความสงบของจิต ความหลุดพ้นขากความต้องการเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ความหลุดพ้นในที่นี้ หมายถึงจิตที่หลุดพ้นจากความต้องการ จิตสะอาดปราศจากกิเลสทั้งหลาย
        นักปรัชญาฝ่ายวิมุตินิยมมีหลายสำนัก เช่น
        1.ซินนิค (Cynic)
        ลัทธิซินนิค เป็นลัทธิที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังสมัยโสเครติส ผู้ก่อตั้งลัทธิมีชื่อว่า อันติวโธนิสแห่งเอเธน (Antiphonies of Athens 444-368 ปีก่อน ค.ศ.) ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของโสเครติสมาก่อน
        พวกซินนิคมีความเห็นว่า ชีวิตที่มีความสุขนั้น คือ ชีวิตที่มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ยิ่งเรามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ น้อยลงเท่าไหร่ เราก็ ยิ่งมีความสุขขึ้นเท่านั้น ลัทธิขินนิคสอนให้เราตัดสิ่ที่งไม่จำเป็น หรือที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลขายให้น้อยลงที่สุดจนไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลย ชีวิตที่ไม่มีกิเลสจึงเป็นชีวิตที่มีความสุขที่สุด
        จริยธรรมของพวกขินนิค จึงมุ่งไปสู่การตัดกิเลสต่างๆ เพื่อมิให้มีจิตมายุ่งอยู่กับกิเลสเมื่อจิตไม่มีกิเลสก็จะเกิดความสุขแก่จิต จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ดีที่สุด
        ซินนิคบางพวกสอนว่า คนเราควรอยู่อย่างสุนัข หิวก็หากิน ง่วงก็นอนไปเรื่อยๆไม่ต้องคำนึงถึงว่าที่นอนนั้นจะเป็นอย่างไร พวกนี้เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น        พวกฮิปปี้ อยู่กินกันตามพื้นดิน เปลือยกายตามที่สาธารณะชน เป็นต้น
        2.สโตอิค(Stoic)
        ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า เซโนแห่งซิติอุม (Zeno of Citium 342-270 ปีก่อน ค.ศ.) พวกสโตอิคมีแนวความคิดคล้ายกับพวกซินนิคที่มีที่อยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ยึดถืออะไร แต่เป็นกลุ่มที่มีคำสอนมากกว่า มีจุดหมายที่แน่นอนกว่า เชื่อในปัญญาคล้ายกับปัญญานิยมเชื่อในเหตุผลของจักรวาลที่ดำรงอยู่ตามกฎเกณฑ์ของมัน เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามที่มันจะเป็น
        พวกสโตอิคมีความเห็นว่า เราควรมีชีวิตอยู่อย่างสันโดษ เราต้องให้เหตุผลของเราพิจารณา ให้เข้าใจธรรมชาติแล้วพิจารณาดูว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตเรา สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นควรพยายามตัดทิ้งไปให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป จะทำให้จิตใจของเราบริสุทธิ์จากกิเลส พบกับความสงบอย่างแท้จริง
        จริยธรรมของพวกสโตอิค จึงหมายถึงการกระทำที่นำไปสู่การตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งหลายเพื่อทำให้จิตใจเกิดความสงบ จึงควรศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติให้มากที่สุด
        กลุ่มวิมุตินิยมทั้งสองกลุ่มคือ ทั้งซินนิคและสโตอิค รวมทั้งศาสนาต่างๆ เช่นศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ล้วนสอนจิตใจให้สงบด้วยกันทั้งนั้น เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ คือ ความสงบใจ
        3.มนุษย์นิยม
        นักปรัชญามนุษย์นิยมไม่เห็นด้วยกับฝ่ายสุขนิยม เพราะพวกสุขนิยมให้ความสำคัญแก่ความสุขสบายมากเกินไป และไม่เห็นด้วยกับพวกปัญญานิยมและวิมุตินิยม เพราะพวกปัญญานิยมและวิมุตินิยมให้ความสำคัญแก่จิตมากเกินไป
        มนุษย์นิยมเห็นว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าไม่มีร่างกายมนุษย์ก็ไม่เป็นมนุษย์ ส่วนจิตใจนั้น ก็อาศัยร่างกายไม่สามารถแยกอิสระจากร่างกายได้มนุษย์นิยมเห็นความสำคัญของทั้งร่างกายและใจเสมอกัน
        พวกมนุษย์นิยมเห็นว่าเราไม่ควรลดมนุษย์ให้ลงไปเป็นสัตว์ และไม่ควรเชิดชูเขาให้เท่าเทียมกับพระเจ้า เพราะผิดธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่พระเจ้าไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่พืช มนุษย์มีธรรมชาติของมนุษย์เอง มีร่างกายไม่แข็งแรงอย่างสัตว์บางชนิดที่อาจอยู่ในน้ำได้ตลอดเวลา อยู่ในอากาศตลอดเวลา อยู่ในหิมะโดยไม่มีเครื่องกันหนาว
        แต่พวกมนุษย์นิยมถือว่าร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งประกอบที่ดีที่สุดของมนุษย์พร้อมกับจิตใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากร่างกายและจิตใจของมนุษย์ทั้งสิ้น สิ่งที่มนุษย์ต้องรักษาให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด คือ ร่างกาย และ จิตใจ
 เกณฑ์ตัดสินการกระทำ
        จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยคุณค่า คือเรื่องความดี ไม่ดี แต่ก็เป็นการยากที่จะชี้ขาดลงไปว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร นักปรัชญาด้านนี้จึงพยายามหาหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินการกระทำ ในที่นี้จะขอเสนอแนวคิดใหญ่ๆดังนี้
1.สัมพัทธนิยม
สัมพัทธ์ (Relative) หมายความว่า สิ่งนั้นขึ้นอยู่กับหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งอื่น เช่น รูปร่าง ลักษณะของน้ำเป็นสิ่งสัมพัทธ์ เพราะรูปร่างลักษณะของน้ำ ไม่แน่นอนตายตัว แต่เปลี่ยนไปหรือขึ้นอยู่กับภาชนะที่บรรจุ ถ้าเราเอาน้ำใส่แก้ว น้ำก็มีรูปร่างอย่างแก้วถ้าเราเอาน้ำใส่โอ่ง น้ำก็มีรูปร่างอย่างโอ่ง ถ้าเราเอาน้ำใส่ขัน น้ำก็มีรูปร่างอย่างขัน เราจึงกล่าวได้ว่า รูปร่างของน้ำสัมพัทธ์กับพาชนะที่บรรจุ
        ถ้าเรากำลังขับรถอยู่ที่ความเร็ว 60 ก.ม. /ช.ม. ถามว่าเรากำลังขับรถเร็วหรือไม่คำถามนี้ยังตอบไม่ได้จนกว่าจะทราบเสียก่อนว่า เรากำลังขับรถอยู่ที่ไหน ถ้าเรากำลังขับรถอยู่ในเมืองก็นับว่าเรากำลังขับรถเร็วเกินไป แต่ถ้าเรากำลังขับรถอยู่บนถนน ซุเปอร์ไฮเวย์ด้วยความเร็ว 60 ก.ม. / ช.ม.ก็นับว่าไม่เร็ว การจะตัดสินว่าเร็วหรือไม่จึงสัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ
        ส่วนพวกสมบูรณ์นิยม ถือว่าความดี ความชั่ว เป็นของมีค่าแน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับอะไร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเลื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
        นักปรัชญาสัมพัทธ์นิยมมีความเห็นต่างกันหลายฝ่ายซึ่งอาจแยกกล่าวได้ ดังนี้
        ก.สัมพัทธบุคคล
        พวกสัมพัทธบุคคลถือว่า ความดี ความชั่ว ขึ้นอยู่กับบุคคล เป็นเรื่องของจิตใจแต่ละบุคคล เช่น ก.พูดว่า x เป็นการกระทำดี ข. พูดว่า x เป็นการกระทำที่ไม่ดี พวกพัทธนิยมอธิบายว่า ทั้ง ก. และ ข. ไม่มีใครผิด-ถูก หรือ ถูกทั้งคู่ เพราะค่าทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความชอบ ไม่ชอบ
        นักปรัชญากลุ่มนี้มีหลายคน เช่น ฮอบส์ โปรทาโกรัส เป็นต้น ฮอบส์ กล่าวว่า อะไรก็ตามที่คนชอบ คนอยากได้ หรือเป็นสิ่งที่ตรงกับความชอบ ความอยากได้ของคนใดคนนั้นก็ว่าดี อะไรที่เขาไม่ชอบก็ว่าสิ่งนั้นไม่ดี คำว่าดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ขอบ ไม่ขอบ นั้น เป็นสิ่งที่เขาพูดเอง ไม่มีเกณฑ์อะไรมาตัดสินนอกจากบุคคล
        โปรทาโกรัส (Protagoras) กล่าวว่า คนเป็นผู้วัดทุกสิ่งทุกอย่างว่าดี ไม่ดี จริง ไม่จริง ถูก ไม่ถูก ควร ไม่ควร นอกจากคนไม่มีอะไรเป็นเครื่องตัดสินได้
        เวสเตอร์มาร์ค (Westermarck 1262-1936) นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษกล่าวว่ามีการตัดสินทางศีลธรรม เกิดจากความรู้สึกทางศีลธรรมของฉัน การตัดสินใจความประพฤติของผู้อื่น มิได้มาจากเขา แต่มาจากความรู้สึกของฉัน ความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตใจของเราซึ่งลึกซึ้งกว่าความพอใจธรรมดาจึงเปลี่ยนแปลงความพอใจของเราไม่ได้"
        ข.จารีตประเพณีศีลธรรมสัมพัทธนิยม
        นักปรัชญาเมธีฝ่ายจารีตนิยมถือว่า ความดี ความชั่ว ขึ้นอยู่กับจารีตประเพณีของสังคมนั้นๆ
        จารีตประเพณีของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามกาละ เทศะ เช่น สังคมทั่วไปถือว่า ผู้ที่ได้รับการศึกษามาสูง จะได้รับการยกย่องจากสังคม ยิ่งจบจากต่างประเทศยิ่งได้รับความยกย่องนับถือมาก
สิ่งที่สังคมนั้นๆ ยอมรับว่าดี มักเป็นไปตามประเพณีของสังคมนั้นๆ เช่น
        1.ประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธทั่วไปจะถือวา การเคารพนับถือกราบไหว้ พระเป็นสิ่งที่ดี ประเพณีชาวฮินดูถือว่าการกราบไหว้บูชาเทพเจ้า เช่น พระนารายณ์ พระศิวะ พระพรหม เป็นสิ่งที่ดี
        2.ชาวไทยถือว่า เมื่อเวลาพบกันการไหว้ถือว่าดี ชาวญี่ปุ่นใช้วิธีโค้งกายลงต่ำเป็นการดี ชาวตะวันตกถือว่าการจับมือกันดี
        3.ชาวไทยถือว่าการให้ทานแก่คนยากจนดี ชาวจีนถือว่า การเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นสิ่งที่ดี
        รูธ เบเนดิค (Ruts Benedict) นักมนุษย์วิทยาคนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องของประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ ที่เรียกว่ามีมากมายอย่างน่าฟังว่า ในพฤติกรรมทางประเพณีของชาติต่างๆนั้นมีแต่ทางบวกสุดถึงทางลบสุด ชนบางเผ่าถือว่า การฆ่าคนเป็นสิ่งที่ควรทำ ประเทศถือว่าการรบเพื่อศาสนาเพื่อพระเจ้าจะได้ไปสรวงสวรรค์ประเทศถือว่าฆ่าลูก 2 คนแรกเป็นสิ่งที่ดีบางกลุ่มถือว่าสามีสามารถฆ่าภรรยาของตนได้โดยไม่ผิดอะไร บางเผ่าถือว่าเป็นหน้าที่ของลูกที่จะต้องฆ่าบิดามารดาของตนก่อนถึงวัยชรา บางแห่งถือว่าการขโมยไก่ตัวเดียวมีโทษประหารชีวิต คนที่เกิดวันพุธ ควรถูกฆ่าทั้งหมด บางกลุ่มถือว่าการเหยียบเท้าให้อภัยไม่ได้ บางพวกถือว่าการยกเท้าเสมอหน้าผู้อื่นเวลาสนทนากันไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ประเพณีความเชื่อถือเหล่านี้บางอย่างสิ้นสุดไปแล้ว แต่บางอย่างอาจมีมาถึงปัจจุบันนี้
        นักปรัชญาฝ่ายจารีตประเพณีนิยมถือว่า ประเพณีก็เป็นสิ่งตัดสินใจคุณค่าของจริยะอย่างหนึ่ง
        2.มโนธรรมสัมบูรณ์
        เกณฑ์ตัดสินความดีอีกประการหนึ่งคือ ลัทธิมโนธรรมสัมบูรณ์ ลัทธินี้ถือว่าการตัดสินคุณค่าทางจริยะนั้นทำได้ตามจิตสำนึก เกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินคุณค่าตามความต้องตัดสินคุณค่าทางจริยะนั้นทำได้ตามจิตสำนึก เกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินคุณค่าตามความคิดของนักปรัชญากลุ่มนี้เรียกว่า มโนธรรม
        มโนธรรมหมายถึง สำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีโดยธรรมชาติที่มนุษย์ เป็นเสียงในจิตใจมนุษย์ที่ทำให้ตัดสินอะไรได้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดอย่างไร
        ความสำนึกในเรื่องความดี ความชั่ว ไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผล เรารู้ว่าสิ่งนั้นผิด เพราะมันผิดไม่ดีในตัวของมันเองจึงไม่ควรทำ
        สมมุติว่า มีเครื่องบินโดยสารเครื่องหนึ่งประสบอุบัติเหตุเรารู้ว่าสิ่งนั้นตกลงกลางภูเขาหิมะทางขั้วโลกเหนือ ผู้โดยสารตายไปเกือบหมดเหลืออยู่ 4 คน คนที่ 4รอเวลาที่จะให้มีผู้ไปช่วยเหลืออยู่หลายวันแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีทางการไปช่วยความหิวเริ่มเกิดขึ้นทุกวัน อาหาร น้ำ ไม่มีทั้ง 4 จึงมาปรึกษากันว่าเพื่อความอยู่รวดควรเอาเนื้อมนุษย์คือผู้โดยสารที่เสียชีวิตมากินเพื่อต่อไปอาจมีผู้มาพบช่วยเหลือได้ ถ้าไม่กินเกิดตายขึ้นมาก็เลยอดกลับบ้าน 3 คน เห็นด้วยว่าควรเอาเนื้อคนมากิน อีกคนหนึ่งบอกว่าการกินเนื้อมนุษย์ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ความคิดเช่นนี้เป็นความสำนึกในจิตใจส่วนลึกว่าการทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง
        เราจะเห็นได้ว่าการที่ชาย 1 ใน 4 คนนั้น มีความเห็นคัดค้านว่าการกินเนื้อมนุษย์เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เป็นความสำนึกในจิตใจส่วนลึกว่าการทำเช่นนั้นไม่ถูก ต่อการอธิบายไม่ได้ว่าทำไมไม่ถูก แต่ความรู้สึกว่าไม่ถูก ความสำนึกเช่นนี้ในทางปรัชญาเรียกว่า มโนธรรม
        ลัทธิมโนธรรมสัมบูรณ์เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกต้องมีลักษณะที่เป็นแก่นแท้ของสิ่งทั้งหลายที่มีในสิ่งๆนั้นเสมอไป เกลือย่อมรักษาความเค็มเสมอ ทุกกาละเทศ ไฟย่อมร้อนทุกกาละเทศะความรู้สึกคนอาจต่างกันเช่นคน 2 คน อยู่ข้างกองไฟลุกโพรงยิ่งขึ้น จะได้อบอุ่นมากขึ้น ความจริงแล้วไฟย่อมร้อนเท่าเดิม
        มโนธรรมไม่ใช่อารมณ์ แต่มโนธรรมเป็นสำนึกในส่วนลึกของหัวใจ มโนธรรมเป็นอินทรีย์พิเศษ ไม่ใช่อินทรีย์ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางปาก ทางกาย แต่เป็นอินทรีย์ที่เรียกว่าปัญญา หรือมโนธรรท หรืออินทรีย์ทางศีลธรรม เป็นส่วนหนึ่งทางจิตหรือวิญญาณเป็นตัวตัดสินชี้ขาดความดีความถูก ความผิดเป็นเรื่องนามธรรม
        บัทเลอร์ นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษคนหนึ่งกล่าวว่า ในตัวคนเรามีสิ่งที่เหนือกว่าความรู้สึกธรรมดาคือ มโนธรรมที่เป็นตัวชี้ขาดเกณฑ์ที่อยู่ในใจเราและตัดสินหลักแห่งการกระทำมโนธรรมจะตัดสินตัวของมันเอาเองและการกระทำของมนุษย์มันประกาศลงไปโดยไม่มีคำแนะนำใดๆ มโนธรรมนั้นแสดงอำนาจของมันออกมาเพื่อให้ได้ความเห็นชอบหรือประณามผู้กระทำตามแต่กรณี
        มโนธรรมหรืออินทรีย์ทางศีลธรรมนั้น มนุษย์มีอยู่ด้วยกันทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นสิ่งติดตัวของมนุษย์แต่เขาเกิดมา มโนธรรมมี 2 ภาค คือ
        1.ภาคชี้ขาดความดีที่ถูกต้อง
        2.ภาคชี้ขาดความงามที่ถูกต้อง
        มโนธรรมที่มนุษย์มีติดตัวนี้เป็นสิ่งสากล แม้จะมีในทุกคนก็มีลักษณะรวมเป็นสากล คือ ทุกคนที่อยู่มนภาวะปกติจะมีความรู้สึกคล้ายกัน เช่น ความรู้สึกว่าการช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตามคนทั้งหลายก็ยังคิดเห็นต่างกันอยู่เพราะความโลภความหลงมาปิดบังเอาไว้
        3.ประโยชน์นิยม   (Utilitarianism)
        ประโยชน์นิยมถือว่า หลักเกณฑ์ที่จะตัดสินการกระทำสิ่งใด สิ่งหนึ่งว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบนั้นขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับจากการกระทำนั้น หมายความว่า ถ้ามีสิ่งสองสิ่งให้เลือกเราควรจะเลือกอย่างที่ให้ประโยชน์แก่เราได้มากที่สุด
        คำว่า ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึง ความสุขนั่นเอง ค่าของสิ่งของต่างๆที่เรามีอยู่นั้น ก็เพราะว่าของสิ่งนั้นพาให้เรามีความสุข ความดี ของมันอยู่ที่ก่อนให้เกิดความสุขแก่เราแต่การดูว่าสิ่งใดมีความสุขมากนั้นต้องดูตัวเราและดูตัวคนอื่นด้วย หมายความว่า การกระทำนั้นต้องให้ความสุขแก่เราด้วย แก่คนอื่นด้วยจึงเป็นหลักของประโยชน์นิยมที่ถูกต้อง
        นักปรัชญาฝ่ายประโยชน์นิยม หรือถือหลัก มหาสุข นี้ เป็นฝ่ายที่มีความคิดอันเป็นรากฐานของศีลธรรมที่ถือว่า ความถูกต้องของการกระทำขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่ว่า การกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความสุข ถ้าการกระทำใดจะก่อสิ่งที่สวนทางกับความสุข สิ่งนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
        “ผลที่เกิดจากการกระทำสำคัญกว่า เจตนา หรือ แรงจูงใจ ที่ก่อให้เกิดการกระทำนั้นขึ้น
        “แรงจูงใจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของการกระทำแม้ว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของผู้กระทำก็ตาม
        “ใครก็ตามที่ช่วยให้เพื่อนมนุษย์พ้นภัยอันตราย เขาย่อมได้ชื่อว่า ได้ทำถูกต้องตามหลักศีลธรรมแล้ว แม้ว่าแรงจูงใจให้ทำนั้นเกิดจากหน้าที่ หรือเกิดจากความหวังที่จะได้รับค่าตอบแทนอันคุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยากก็ตาม
        กล่าวโดยสรุป
        ประโยชน์นิยมเป็นอันเดียวกับสุขนิยม ที่ถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ความสุขที่ว่านั้นเป็นความสุขจำนวนมากที่สุดใช้เวลานานที่สุดเรียกว่า มหาสุข ศีลธรรมถือเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องความรู้สึก ถือว่าประโยชน์สุขนั้นคือศีลธรรม ประโยชน์นิยมบางครั้งจะไม่คำนึงถึงกฎหมาย ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี แต่คำนึงถึงประโยชน์สุขนั้นแหละเป็นสำคัญ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขแก่คนมากที่สุดมนเวลายาวนานที่สุดนั้นแหละคือกฎหมาย คือ ศีลธรรม หรือขนบธรรมเนียมและประเพณีที่ถูกต้องควรทำ
4. หลักการนิยม
        นักปรัชญามีชื่อเสียงของกลุ่มนี้คือ อิมมานูเอล คานท์ (KANT 1724-1804) คานท์เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน คานท์เห็นว่า ความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด นั้น เป็นสิ่งตายตัว หมายความว่า ถ้าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดีมันจะต้องดีเสมอโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับเวลา สถานที่ สิ่งแวดล้อม หรือตัวบุคคล ใดๆ เลย เช่น พูดความจริงไม่ว่าจะพูดเวลาไหนย่อมดีเสมอ
        ค่าทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อมีจริงก็ต้องตายตัว และเมื่อตายตัว ก็จะเอาผลการกระทำตัดสินไม่ได้
        “ไม่มีอะไรในโลกที่คิดได้ว่า เป็นสิ่งที่จะวัดความดีความชั่วได้นอกจากเจตนาดีคานท์ถือว่า การกระทำที่เกิดจากการเจตนาดี คือการกระทำตามหน้าที่หนือจขะพูดว่าการกระทำตามหน้าที่คือการกระทำด้วยเจตนาดีนั่นเอง
        “การกระทำที่เกิดจากแรงกระตุ้น หรือจากความรู้สึก ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากหน้าที่ไม่ถือวาเป็นเจตนาดี เช่น แรงกระตุ้นพวกความอยาก ความปรารถนา อารมณ์ ความรู้สึกเป็นต้น
        ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่อยู่กับศีลธรรม คืออยู่กับหน้าที่ไม่ใช่อยู่กับความสุข หรือความรู้สึก
        “การกระทำตามหน้าที่ มิใช่การกระทำที่มุ่งไปยังที่ผลประโยชน์หรือโทษของการกระทำแต่มุ่งไปที่ตัวการกระทำนั้นๆ ว่าเป็นสิ่งที่ดีจริงในตัวมันเอง เช่น ถ้า ก. พูดจริง เพราะคิดว่าคนเขาจะเชื่อ คนเขาจะรัก เช่นนี้ไม่ใช่การกระทำตามหน้าที่ แต่ถ้าเขาพูดจริงเพราะคิดว่าพูดจริงมันดี ใครจะรักจะเกลียดก็ช่างใคร เช่นนี้ การกระทำของเขาจึงจะเป็นการกระทำตามหน้าที่และมีค่าทางจริยธรรมจริง
        “การกระทำตามหน้าที่ ที่จะเป็นหลักศีลธรรมได้ต้องเป็นการกระทำที่เป็นหลักสากลหมายความว่า เมื่อเรากระทำแล้วคนอื่นเห็นก็รู้สึกเหมาะสมหรือคนอื่นทำแล้วเราดูก็รู้สึกว่าเหมาะสม เช่น เราถือว่า ถ้าเราหิวเราขโมยเขาได้ ทีนี้ในทางกลับกัน เมื่อคนอื่นเขาคิดว่าเมื่อหิวเขาหิวเขาก็มาขโมยของๆเรากิน เช่นนี้เรายอมรับไหม เราไม่ยอมให้เขามาเอาของๆเราไป จึงไม่เป็นสิ่งสากล การกระทำที่ไม่เข้ากฎสากลเช่นนี้ไม่เป็นกฎศีลธรรม
สรุปความเห็นของคานท์ ก็มีว่า
        -การกระทำที่ถูกต้อง คือ การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี
        -การกระทำที่เกิดจากเจตนาดีคือการกระทำที่เกิดจากการสำนึกในหน้าที่
        -การกระทำที่เกิดจากการสำนึกในหน้าที่คือ การกระทำที่เกิดจากเหตุผล
        -การกระทำที่ตั้งอยู่บนเหตุผล คือ การกระทำที่เกิดจากศีลธรรม
        -การกระทำที่เกิดจากศีลธรรม คือ การกระทำตามกฎสากล
        -กฎสากล คือ กฎที่ทุกคนในสังคมยอมรับและเห็นด้วย
        ความเห็นด้วยของทุกคนกฎสากลกฎศีลธรรมเหตุผลความสำนึกในหน้าที่เจตนาดีการกระทำที่ถูกต้อ






อ้งอิง
ขอขอบคุณเว็บไซร์ที่นำเสนอในเนื้อหาแห่งนี้โดยนำเผยแพร่ไม่ได้อ้างอิงถึงท่านเจ้าของข้อมูล


ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]





<< หน้าแรก

This page is powered by Blogger. Isn't yours?

สมัครสมาชิก บทความ [Atom]