วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
จริยศาสตร์
จริยศาสตร์
จริยศาสตร์มาจากคำภาษาสันสกฤตแปลว่า วิชาที่ว่าด้วยข้อควรกระทำ หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยข้อควรประพฤติของมนุษย์ ถือเอาใจความว่า วิชาที่ว่าด้วยอะไรควรทำ อะไรควรเว้น อะไรถูกอะผิด อะไรดี และอะไรชั่ว เป็นต้น
คำว่าจริยศาสตร์เป็นศัพท์ที่ยัญญัติขึ้นเพื่อใช้แปลของคำภาษาอังกฤษ ethics ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า ethos ภาษาละตินว่า ethica แปลว่าประเพณี ความเคยชิน (Custom) เป็นพฤติกรรมกลุ่ม คือคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่เป็นไปในแนวเดียวกันจนกระทั่งถือเอาพฤติกรรมเช่นนั้นเป็นแบบแผนของการกระทำของสังคมไปในที่สุด เป็นสิ่งที่พึงกระทำ เป็นที่พึงปรารถนาของคนทั่วไป เป็นกลุ่มประเพณีของกลุ่มสังคมในที่สุด
หน้าที่ของจริยศาตร์คือ การประเมินคุณค่าของมนุษย์ว่า ดีหรือชั่วถูกหรือผิด ควรทำหรือไม่ควรทำเป็นต้น (Science of valuation of human conduct that good or bad; right or wrong and ought to do ro ought not to do)
จริยศาสตร์แตกต่างจากศีลธรรมอย่างไร
วิชาจริยศาสตร์ (Morality) เป็นวิชาที่ศาสนิกชนจะต้องศึกษาและปฏิบัติไปเรื่อยๆตาที่ศาสดาของศาสนาที่ตนนับถือสั่งสอนไว้ด้วยศรัทธาเป็นสำคัญ คือเชื่อถือปฏิบัติตามโดยไม่พากษ์วิจารณ์หาเหตุอย่างเต็มที่ แม้จะมีบ้างก็เพื่อให้เกิดศรัทธาเท่านั้น การเรียนการสอนวิชาศีลธรรมจึงเน้นหนักไปในทางชักจูงให้เห็นดีเห็นงามด้วย ลักษณะการสอนศีลธรรมจึงอยู่ในรูปว่า “จงทำอย่างนั้นเพราะอย่างนั้นดี” หรือ “อย่างทำอย่างนั้น เพราะสิ่งนั้นเลว” เป็นการสั่งสอนแบบบังคับให้หรือไม่ให้กระทำห้มวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งกว่านั้น ยังมีลักษณะปรามไม่ให้ทำชั่ว แบบเขียนเสือให้วัวกลัว คือสอนเรื่องอบายภูมิ ขณะเดียวกันก็เสนอรางวัลให้ผู้ปฏิบัติตามคือ สุคติภูมิ มีสวรรค์ เป็นต้น ส่วนจริศาสตร์ ไม่ได้ชักจูงให้เชื่อหรือศรัทธา แต่เป็นการชี้แจงเหตุผลว่า ดีชั่วเป็นอย่างไร ถูกผิดเป็นอย่างไร ควรและไม่ควรทำเป็นอย่างไร ไม่มีการสอนแกมบังคับ บุคคลจะเชื่อหรือยึดถือปฏิบัติตามก็เป็นเรื่องของความสมัครใจนักจริศาสตร์จึงเปรียบเสมือนสถาปนิกผู้ออกแบบความประพฤติของมนุษย์ ส่วนศาสนาเปรียบเสมือนวิศวกรหรือนายช่างที่นำเอาแบบแปลนผลงานของสถาปนิกไปก่อสร้างอาคาร ดังนั้นจริยศาสตร์จึงมีขอบค่ายกว้างขวาง ครอบคลุมความประพฤติของมนุษย์ทั้งโลก ส่วนศาสนาศีลธรรมมีความหมายแคบกว่าเจาะจงแคบลงไปคือ นำเอาจริศาสตร์ที่สังคมเห็นชอบด้วยไปใช้บังคับให้ปฏิบัติตามในลักษณะที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น ศาสนาจึงเกิดขึ้นมา เช่นการประกาศบัญญัติ ๑๐ ประการของโมเสส ก็เพื่อแก้ปัญหาทางศีลธรรมของชาวยิวสมัยนั้น
วิวัฒนาการของพฤติกรรมจริยะ
ค้าน (Kohlborg,๑๙๖๙:๓๗๗) ได้ทำการค้นคว้าวิจัยจริยธรรมตามทัศนะของเพียเจต์และรายงานถึงวิวัฒนาการของพฤติกรรมทางจริยะของมนุษย์ว่าได้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปในเชิงพัฒนาโดยลำดับอย่างเป็นขั้น เป็นตอน นับตั้งมนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นสังคงดึกดำบรรพ์มาเป็น ๓ ระยะและ ๖ ขั้นตอน
ระดับที่ ๑ หรือ ระดับก่อนเกณฑ์ เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมขึ้นมา ยังหากฏเกณฑ์ที่จะให้สมาชิกยึดถือปฏิบัติร่วมกันไม่ได้ มนุษย์พยายามแสวงหาหลักการที่ดีที่สุดไว้สำหรับปฏิบัติตามให้เป็นไปในแนวเดียวกัน เพื่อความก้าวหน้า ความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์เป็นไปในลักษณะการตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและพรรคพวกของตนเองก่อนอื่น อาจจำแนกได้เป็น ๒ ขั้นคือ
ก. เพราะความกลัวที่จะได้รับการลงโทษจากสิ่งหรือผู้ที่มีอำนาจ เช่น ธรรมชาติ ผู้ใหญ่ จึงพยายามหลีกหลียงไม่ให้ต้นเองถูกลงโทษโดยการลองผิดลองถูกว่า ทำอย่างไรชาติจึงจะไม่ลงโทษหรือยอมทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจทางกายเหนือต้น นานๆเข้าก้เห็นว่าทำเช่นนี้ได้ผลจึงยึกถือเป็นหลักการสืบกันมา
ข. เพราะอยากได้สิ่งตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้นได้กระทำให้ไป มนุษย์จึงพยายามเลือกกรทำเฉพาะสิ่งที่ได้รับรางวัลจากการกระทำดีของตน ใครๆก้ตามที่ทำเช่นนี้จะได้รับผลรางวัลเช่นเดียวกัน มนุษย์จึงยึกถือหลักการสืบๆกันมา
ระดับที่ ๒ หรือ ระดับตามเกณฑ์
เมื่อสังคมเจริญขึ้น กลุ่มสังคมมนุษย์แต่ละหน่วยต่างก็มีหลักการที่แน่นอนและศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคนส่วนใหญ่ยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นระดับที่กฎของสังคม (Social norms) ได้ฟังรากลึกมั่นคงแล้ว ได้แก่ จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรมทางศาสนาและกฏระเบียบข้อบังคับต่างๆซึ่งมีลักษระของการที่สมาชิกสังคมถูกบังคับจากภายนอก ถ้าใครละเมิดก็จะมีโทษหนักเบาต่างๆกัน คือโทษหนักที่สุดถึงถูกประหารชีวิต และโทษเบาที่สุดคือถูกติฉินนินทา แต่ขะณะเดียวกันสมาชิกก็สามารถที่จะแสดงบทบาทของตนได้ในขอบเขตของกฎหมายสังคมดังกล่าว ระดับนี้อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ขั้น คือ
ก. เพื่อเอาใจผู้อื่น เนื่องจากบุคคลไม่เป็นตัวของตัวเองยังหาจุดยืนของตนยังไม่ได้จึงชอบคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่นไปก่อน เช่น เพื่อนฝูง ผู้ที่อาวุโส ผู้บังคับบัญชา จึงต้องทำดีบางทีก็หวังสิ่งตอบแทนที่ตนได้เอาใจคนอื่นมาก่อน เมื่อตนได้ทำดีตามที่คนอื่นชักจูงแล้ว ก็หวังว่าตนจะได้รับการเจียดจ่ายผลประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย ทำให้มองดูเป็นคนมีจริยธรรมไป
ข. เพราะกฏเกณฑ์บังคับ สมาชิกสังคมมีความรู้สึกถึงบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม บางคนก็มีความจริงใจ เคารพกฏเกณฑ์ มีความรู้สึกละอายใจที่จะฝืนกฏางอย่างก็เกรงกลัวต่อผลร้ายอันจะเกิดกับตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งๆที่ไม่ค่อยมีความจริงใจ ก็จำใจจะต้องปฏิบัติตามกฎของสังคม จึงเป็นพฤติกรรมจริยอย่างหนึ่ง
ระดับที่ ๓ หรือ ระดับเหนือกฏเกณฑ์
ในสังคมยุคเหตุผลมนุษย์เริ่มปลดปล่อยจิตใจตนเองจากขอบเขตจำกัดของศาสนา จารีตประเพณีและกฎต่างๆมีการตัดข้อขัดแยงต่างๆด้วยการนำเอามาคิดตรึกตรองตัวเหตุผล ชั่งใจด้วยตนเองและตัดสินใจเลือกตามความเหมาะสมของตนเอง พฤติกรรมจริยะระดับนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ขั้นคือ
ก. การรู้จักคิดหาเหตุผล เหตุที่สมาชิกสังคมประพฤติปฏิบัติดีนั้นก็เพราะยึดหลักเหตุผลหรือกฎศีลธรรมเป็นสำคัญ คือ คนส่วนใหญ่เห็นพ่องกันว่า ทำเหตุไว้อย่างไร ก็จะต้องได้รับผลตอบสนองไว้เช่นนั้น เห็นความสำคัญของหมู่มาก ไม่ทำตนให้ขัดต่อสิทธิอันพึงได้ของคนอื่นสามารถใช้เหตุผลควบคุมบังคับใจตนเองได้ เป็นยุคเหตุผลคือการถูกต้องนำไป เรียกว่ายุคธรรมาธิไตยก็ได้
ข. ขั้นอุดมการณ์ เป็นขั้นสูงสุดของมนุษย์ แสดงออกทั้งความมีความรู้สากลเหนือกฏเกณฑ์ในสังคม และการมีความยืดหยุ่นทางจริยธรรมเพื่อจุดมุ่งหมายในปั้นปลายอันเป็นอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ กฎสังคมไม่มีความหมายสำหรับผู้มีอุดมการณ์หรือมโนคติในใจ เพราะมโนธรรมเป็นเสียงกระซิบภายในจิตใจว่าอะไรดีอะไรถูก และอะไรควรทำ เป็นระดับจิตที่สูงสุดของชีวิตมนุษย์หรือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นเทวดาเดินดิน เพราะมีเทว
ธรรมคือ หิริ และโอตตัปปะ
อุดมคติจุดหมายสูงสุดทางจริยศาสตร์
เนื่องด้วยจริศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการประเมินค่า ความประพฤติของมนุษย์ว่าดีถูกควรเป็นอย่างไร มีมาตรการอะไรที่จะประเมินคุณค่าทั้งสามประการ การกระทำที่มีคุณค่าทั้ง ๓ ประการนี้ ครบถ้วนจึงถือว่าเป็นการกระทำที่ดีที่สุด เป็นอุดมคติของวิชาจริยศาสตร์
อุดมคติคืออะไร นักปรัชญากรีกตั้งแต่สมัยโบราณมาได้สนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยเพลโต (พลาโต้) เป็นตนมา นักจริยศาสตร์ได้พูดถึงอุดมคติของชีวิต (Ideals of life) หรือ Summum Bonun) คือมนุษย์ทุกคนต่างก็มีจุดหมายสูงสุดของตัวเองไว้ เช่น ความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่ออุดมคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของคนส่วนใหญ่ส้อดคล้องกันอุคมคตินั้นก็จะเป็นคุณค่าสวนร่วมไป ตามทัศนะของเพลโต อุดมคติมักบกพร่องเสมอ คือน้อยนักที่คนเราจะได้สมปรารถนาตามอุดมคติที่ตั้งไว้ เพราะมนุษย์ย่อมมีความรู้ความสมารถจำกัด เมื่อกระทำจริงๆ ก็มักจะได้รับผลสำเร็จไม่ถึงขั้นที่ตนฝันเอาไว้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องผิดหวังเป็นธรรมดา ถึงกับมีคำกล่าวเป็นคติที่ว่า “No man is perfect;notthing is complete excext GOD”
เกณฑ์ตัดสินการกระทำ
เพื่อประเมินคุณค่าตัดสินการกระทำเพื่อบรรลุอุดมคติดังกล่าว จริยศาสตร์จึงมีเกณฑ์ตัดสินหลายเกณฑ์ เช่น สัมพันธนิยม สัมบูรณ์นิยม ประโยชน์นิยม เจตนานิยม เป็นต้น แต่ก็รวมอยู่ในเกณฑ์ใหญ่ ๒ ประเภทคือ
๑. ลัทธิอัตนัยนิยม (Subjectivism) ถือว่าความดีเป็นสิ่งสมมติ ความดีไม่แน่นอนตายตัวย่อมขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและผู้ชี้ขาดว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก และควรไม่ควร เป็นความเห็นเฉพาะตัวบุคคล ไม่สากลแต่ทุกคน คุณค่าของการกระทำเช่นดี เป็นต้น ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจ ความต้องการความพอใจของผู้ตัดสินหรือปัจจัยต่างๆ เช่น บุคคล สถานที่ เวลา จารีตประเพณี และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ความดีจึงมีลักษณะสัมพันธ์ คือขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมดังกล่าว
๒. ลัทธิปรนัย (Objectivism) ถือว่าความดีเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวมา แต่ความดีติดตัวอยู่ที่การกระทำนั้นเอง ความดีเป็นสากลแก่ทุกคนเป็นอมตะ เช่น “การพูดจริงเป็นสิ่งที่ดี” ไม่ว่าใครจะพูดที่ใหน เมื่อไร ไม่ว่าใครจะพอใจหรือไม่พอใจ ใครจะเสียผลประโยชน์ หรือได้ผลประโยชน์ก็ตาม ก็ดีทั้งสิน เพราะถือว่าผลอันที่เกิดจากการกระทำไม่สำคัญ แต่เจตนาอันก่อให้เกิดการกระทำต่างหากที่เป็นเกณฑ์ตัดสินความดี ความดีเป็นสิงสมบูรณ์ การที่บางคนจะไม่เห็นด้วยนั้น เป็นเพราะสติปัญญาของเขายังไม่แก่กล้าพอ เมื่อเขาฝึกตนเองจนถึงขั้นแล้วก็จะเข้าใจโดยธรรมชาติ
อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด
สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรแสวงหาคืออะไร ในทางจริยศาสตร์ไม่อาจที่จะให้คำตอบเพียงคำตอบเดียวได้ เพราะนักปรัชญาในแต่ละลัทธิมีอุดมคติของชีวิตไม่เหมือนกัน
ลัทธิอัตนิม (Egoism)
นักปรัชญากลุ่มนี้ถือว่าความดีไม่มีหลักการที่แน่นอนย่อมขึ้นอยู่กับตัวบุคคล คือ ความต้องการ ความสนใจ ผลประดยชน์เป็นต้น ของบุคคลจะเป็นตัวตัดสินว่าการกระทำอย่างไรจึถือว่า ดีถูกและควรทำ เช่น
๑. ลัทธิโซฟิสต์ ถือว่าบุคคลแต่ละบุคคลเป็นมาตรวัดทุกสิ่ง ความดีความชั่ว ความถูกความผิด ความยุติธรรม ย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลที่ชี้ขาดตามที่เขาพอใจ คือสิ่งที่ให้ประโยชน์ก็ถือว่าดีเป็นต้น ดังนั้นคุณค่าทั้งหลายจึงไม่ตายตัวแน่นอนย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามบุคคล
๒. ลัทธิฮ๊อบส์ ถือเอาผลดีของการกระทำเป็นมาตราวัดความดี ความเห็นแก่ตัวเป็นแก่นแท้ของมนุษย์ “ดี” เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่ต้นชอบและปรารถนา “ชั่ว” เป็นเพียงคำที่เรียกสิ่งตรงข้าม ฉะนั้น ดี - ชั่ว จึงเป็นเพียงสิ่งสมมติเท่านั้นไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอนที่จะวัด
ลัทธิสุขนิยม (Hedonism)
คำว่า Hedone เป็นคำภาษากรีกแปลว่า ความพอใจ (Pleasure) ลัทธินี้ถือว่าการแสวงหาความสุขทางปราสาทสัมผัสเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงความทุกข์เดือดร้อน (Pain) ไปด้วยบ้างกลุ่มก็เน้นความสุขส่วนตัว บางกลุ่มก็เน้นความสุขส่วนรวม เช่น
๑. ลัทธิจารวาก ถือว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่ การแสวงหาความสุขใส่ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งกามสุขเป็นอุดมคติของชีวิต เพราะชาติหน้าไม่มี แม้กามสุขจะเจือปนด้วยความทุกข์ลำบากบ้าง ก็ต้องฉลาดรู้จักเลือกแสวงหาความสุข
๒. เบนธัม (Jeremy Bebtham: ๑๗๔๘ - ๑๘๓๒) นักจริยศาสตร์ชาวอังกฤษ ถือว่าการกระทำของมนุษย์เกิดจากการแสวงหาความสุข ความพึงพอใจ และการพยายามหลีกเลี่ยงความทุกข์ แม้บางคนจะดูเหมือนทำเพื่อคนอื่น แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อตนโดยอ้อม เป็นเพียงการปลูกพืชหวังผลเท่านั้น คนเราย่อมแสวงหาความสุขของตนเองก่อนอื่น ความสุขเป็นสิ่งที่มีปริมารด้วย คือการที่คนเราได้รับความสุขต่างๆนั้นย่อมมีปริมาณไม่เท่ากัน
๓. มิลล์(J.S. Mill:๑๘๐๖๘-๑๘๗๓)
เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษและเป็นศิษย์ของเบนธัม เขาไม่เห็นด้วยกับทัศนะของเบนธัมที่ว่าความสุขมีปริมาณ เพราะเป็นนามธรรม จึงเป็นคุณภาพมากกว่า กล่าวคือความสุขที่เราได้รับอย่างเดียวกันแต่จากคนละแหล่ง มีคุรภาพไม่เท่ากัน เช่น สัมตำร้าน ก กับร้าน ข มีคุณภาพแห่งความสุขไม่เท่ากัน
มิลล์เน้นเรื่องความสุขส่วนรวมมากกว่าความสุขส่วนตัว เพราะถ้าสมาชิกสังคมต่างก็คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวกันหมดแล้ว สังคมจะขาดความสงบสุข มือใครยาวสาวได้สาวเอาจึงเสนอหลัก มหสุข(The Greatest happyness for the greatest numbers) อันเป็นรากฐานของ “ประโยชน์นิยม” (Utilitarianism) ซึ่งมีหลักสำคัญว่า “การกระทำที่ดีที่สุดคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด” เพราะเชื่อว่าสังคมส่วนรวมมีความสุข เอกชนอันเป็นส่วนหนึ่งของวังคมกจะมีความสุขไปด้วย ลัทธิประโยชน์นิยมของมิลล์ไม่ถือว่าเจตนาอันก่อให้เกิดการกระทำสำคัญแต่ผลอันเกิดจากการกระทำสำคัญกว่าเจตนา หลักประโยชน์นิยมมีไว้สำหรับตัดสินการกระทำมิใช้ตัดสินคน การประกอบอาชีพโสเภณีไม่แน่ว่าจะผิด การฆ่าคนอาจถูก และการช่วยคนตกน้ำให้รอดตายทั้งๆที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ อาจจะถูกก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขแห่งผลอันเกิดแกการกระทำนั้น
ลัทธิอสุขนิยม (Non-hedonism)
ลัทธิแบบอสุขนิยมถือว่าความสุขแบบโลกียสุขอย่างลัทธิสุขนิยมสรรเสริญนั้นยังไม่ดีที่สุด ยังมีการกระทำอื่นๆอีกที่ดีที่สุด เช่น การใช้ปัญญาคิดหาเหตุผล การระงับความทะยานยาก การทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์เหล่านี้เป็นความดีสูงสุดในฐานะเป็นมนุษย์และเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัวติดอยู่ที่การกระทำนั่นเอง และมีลักษณะเป็นสากล จึงเป็นคุณค่าในตัวเอง หรือคุณค่าที่แท้จริง ลัทธิสุขนิยมมีหลายกลุ่มคือ
๑. ลัทธิปัญญานิยม (Rationalism) ถือว่าปัญญาหรือความรู้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด นักปรัชญาที่สำคัญได้แก่ โสคราตีส และอริโตเติล ปัญญาคือความสามารถในการใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาความจริง เพื่อนำไปสู่การกระทำที่ดี ที่ถูก ที่ควร ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จึงทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อย่างสิ้นเชิง ปัญญาความรู้จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง ส่วนความสุขเป็นสิ่งที่มีคุณค่านอกตัว ความสำคัญของความสุขจะมีอยู่บ้างก็เพียงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนเราปฏิบัติกิจกรรมทางปัญญาได้สะดวกยิ่งขึ้นเท่านั้น โสเครตีสกับเพลโตมองความสุขอย่างเหยียดหยาม เพราะเป็นตัวหลอกล่อให้คนเราลุ่มหลงจนลืมแสวงหาปัญญา ยิ่งสุขสบายดีก็ยิ่งเกียจคร้านที่จะศึกษาหาความรู้ ส่วนอริโตเติลให้ความสำคัญแก่ความสุขอยู่บ้างในฐานะเป็นอุปกรณ์ชนิดในการปฏิบัติกิจกรรมทางปัญญา เช่น การศึกษาเล่าเรียนจะเป็นไปได้ บุคคลจะต้องอยู่สุขสบายดีก่อน
โสเครตีส ถือว่าความดีต้องมีมาตรการที่แน่นอนและความดีมาจากความจริงซึ่งมีอยู่แล้ว บุคคลจะเข้าถึงความจริงได้ด้วยการใช้ปัญญาหลั่งรู้ภายในเท่านั้น แนวคิดที่สำคัญที่สุดของโสเครตีสคือ หลักการที่ว่าความรู้คือคุณธรรม (Knowledge is virtue) ความรู้ในที่นี้เป็นความรู้ขั้นบรรลุสัจธรรมสูงสุด ไม่ใช้ความรู้ธรรมดา ผู้ที่บรรลุความรู้ดังกล่าวจะไม่ทำชั่วเลย ผู้รู้ย่อมไม่ทำชั่ว เหตุที่คนเราทำชั่วเพราะเขาไม่รู้ต่างหาก เนื่องจากขาดคุณธรรมที่ควบคุ่มความประพฤติของตนได้ เขาจึงสอนให้คนเรารู้จักตนเองว่ายังบกพร่องอะไร แล้วพยายายมพัฒนาตนเองให้บรรลุสัจธรรม
เพลโต เห็นด้วยกับโสเครตีสว่า คุณธรรมเป็นความดีสูงสุด และจะแนกคุณธรรมสำคัญไว้ ๔ ประการคือ ปัญญา ความกล้าหาญ ความยุติธรรม และความรู้จักประมาณตน บุคคลไม่สามารถบรรลุคุณธรรมเหล่านี้ได้ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในสังคมมนุษย์ เนื่องจากเป็นจรรยาธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป
อริสโตเติล เน้นการปกิบัติต่อกันในชีวิตประจำวันที่สามารถเห้นได้ในขอบเขตแห่งประสาทสัมผัส ความดีสูงสุดคือ ความสุขที่ได้รับจากปฏิบัติคุณธรรมซึ่งหมายถึงการปฏิบัติอย่างพอดีกลางๆระหว่างปลายสุดทั้งสองข้าง เช่น ความกล้าหาญ คือความเป็นกลางระหว่างความบ้าบิ่น กับความขี้ขลาด ความเอื้อเฟื้อคือความเป้นกลางระหว่างความฟุ่งเฟือย กับคความตระหนี่ ความสุภาพคือความเป็นกลางระหว่างความขี้อายกับความไร้ยางอาย
๒. ลัทธิวิมุตตินิยม (Salvationism) ถือว่าการทำตัวเองให้หลุดพ้นจากการตกเป็นทาสของตัณหาเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่เป็นลัทธิเนื่องด้วยศาสนา เช่น คริสต์ ฮินดู พุทธ เป้นต้น
- ลัทธิสโตอิก (Soicism) นักปรัชญากรีกชื่อว่า เซโน (zeno :ค.ศ. ๓๓๖ –๒๖๔) เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิถือว่าความอยากเป็นต้นตอของความทุกข์ความเดือดร้อนของคนเรา เพราะตกเป็นทาสของมัน ถ้าปรารถนาความสุขที่แท้จริงและแน่นอนก็พยายามเอาชนะกิเลส พยายามลดความต้องการส่วนเกินออกไปเสีย คงเหลือเฉพาะสิ่งจำเป็นจริงๆเท่านั้น ดำรงชีพด้วยความสันโดษ
- ลัทธิซินนิค (Cynicism) นักปรัชญากรีกชื่อ แอนตีสเธเนส (Antisthenes: ก่อน ค.ศ. ๔๓๕ - ๓๗๐) เป็นผู้ก่อตั้งลัทธินี้ตามแนวดำเนินชีวิตของโสเครตีส คือมีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ค่ำใหนนอนนั่นไม่กระเสืกกระสนดิ้นรนแสวงหาทรัพย์สิน ชื่อเสียงเกียรติยศ อำนาจ ก็จะพบกับความสุขนิรันดร
๓. ลัทธิมนุษย์นิยม (Hummanism) ลัทธิต่างๆที่กล่าวมามองชีวิตด้านเดียว เป้นพวกที่มีทัศนะแคบเกินไป มนุษย์นิยมว่าควรมองชีวิตให่รอบด้าน เพราะว่าชั่วชีวิตของคนเรามิใช่ปรารถนาอุคติของชีวิตที่กล่าวมาเป็นการมองโลกแคบเกินไป น่าจะขัดกับความเป็นจริง ชีวิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ควรมีความสนใจปรารถนาในหลายๆด้าน ดดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมัยปัจจุบันนี้ความสัมพันธ์ของคนเรากว้างขวางระดับโลก คนเราจึงควรมีครบทุกอย่างที่คนส่วนใหญ่มีกัน เช่น ความสุข ความดี ความงาม และความบริสุทธิ์ของจิตใจ
๔. ลัทธิเจตนานิยม หรือ ลัทธิของค้านท์ (Immanuel Kant:๑๗๒๗-๑๘๐๔)เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันมัทัศนะคล้ายกับหลักศาสนามาก ถือว่าคุณค่าทางศีลธรรมจะต้องแน่นอนตายตัว กล่าวคือถ้ากระทำดีเกิดจากเจตนาดี ก็จะต้องดีเสมอไปไม่เลือกกาลเวลา สถาที่ สิ่งแวดล้อม และผลเท่านั้น ต้นเหตุของการกระทำคือเจตนา ถ้าเจตนาดีแล้ว ก็นับว่าถูกต้องดีงามเสมอไป จึงจัดเป็นลัทธิปรนัยนิยม คือความดีเป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัว
การกระทำที่เกิดจากเจตนาดี ตามทัศนะของค้านท์คือ การกระทำตามหน้าที่ ซึ่งต้องตรองจากเหตุรอบคอบแล้ว มิใช้เกิดจากอารมณ์ สัญชาตญาณ ความสงสาร ความรัก ความชัง ความรู้สึก และไม่ใช้มุ่งตรงไปที่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งเจตนาก้ต้องพยายามทำให้เป็นหลักสากลคือทุกคนยอมรับว่าถูกต้องจนเป็นกฏแห่งเหตุหรือกฏแห่งศีลธรรม การทำตามกฎแห่งศีลธรรมคือการทำตามอย่างเด็ดขาด
ค่านท์ถือว่าการกระทำทุกอย่างของคนเราเกิดจากแรงจูงใจ ซึงมีลักษณะเป็นคำสั่ง (Imperative) มี ๒ ประการคือ คำสั่งที่มีเงื่อนไข กับคำสั่งที่ไม่มีเงื่อนไข หรือคำสั่งเด็ดขาด
ทัศนะของค้านท์เป็นแบบปรนัยหรือแบบสมบูรณ์นิยม (Absolutism) ถือว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนตายตัวไม่ว่าจะกระทำในสถานการณ์ใดๆถ้าเจตนาของผู้กระทำดีแล้ว ยอมเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎศีลธรรม ซึ่งเป็นกฎสากลที่ทุกคนยอมรับ และเป็นเครื่องหมายแห่งเสรีภาพที่จะช่วยปลดปล่อยจิตมนุษย์หลุดพ้นจากอำนาจความรู้สึกทางประสาทสัมผัสเป้นอำนาจฝ่ายต่ำ ดังนั้น เข้าจึงเน้นว่า คนเราต้องกระทำตามหน้าที่ในฐานที่เป็นมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเช่นใด จะเกิดผลอย่างไรเพราะการยึดถือหน้าที่เท่านั้นที่จะทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุขททสังคมจะต้องมีกฎเกณฑ์สากลที่ตายตัวคนเราจะต้องปรับตัวเข้าหาสังคม การตามใจกิเลสตัณหาเป็นการปรับกฎเข้าหาตนเอง จะทำให้สังคมยุ่งเหยิงเพราะมีกฎหมายมายหยุบหยิบ ประพฤติปฏิบัติแตกต่างกันไปหลายกลุ่ม จึงทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ความเป็นปึกแผนไม่มี พลังที่จะพัฒนาให้เข็มแข็ง ความเจริญรุ่งเรืองจะเป็ไปได้อยาก
หลักจริยศาสตร์ในศาสนาและลัทธิต่างๆ
จริยศาสตร์ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู
ตามหลักปรัชญาพระเวท การกระทำที่ดีที่สุดคือ การปฏิบัติตามหน้าที่ของบุคคลที่กำหนดไว้ในระบบวรรณะของตนอย่างเคร่งครัด จะกระทำการใดๆข้ามขอบเขตของวรรณะไม่ได้ การประกอบอาชีพผูกขาดวะวรรณะแพศย์ เป็นต้น จะแต่งงานข้ามวรรณะไม่ได้ จะกินอาหารที่คนวรรณะอื่นปรุงไม่ได้เพราะเป็นเทวบัญญัติของพรหมลิขิตผู้สร้างมนุษย์
นอกจากความเชื่อเรื่องพรหมลิจิตแล้ว ชาวฮินดูยังเชื่อเรื่องกรรมและการเวียนวายตายเกิดคือถ้าทำกรรมดีก็จะนำไปสู่ความเป็นอมตะ การทำความดีได้แก่การประกอบพิธีกรรมต่างๆอย่างเคร่งครัด เช่น การบูชายัญ การล้างบาป เป็นต้น อมตะในอานาจักรสวรรค์ พ้นจากความทุกข์อยากในชีวิตปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลของกรรมชั่วในอดีตชาติและไม่เกิดชาติใหม่อีก
จริยศาสตร์ในศาสนาพุทธ
จริยศาสตร์พื้นฐานในฐานะที่เป็นมนุษย์ควรยึดถือเป็นหลักประจำใจ คือหลักมนุษยธรรม ๕ ประการ ได้แก่ มีเมตตา กรุณาต่อผู้อื่น แสวงหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง สำรวมในเรื่องเพศสัมพันธ์มีความซื่อสัตย์ และมีสติควบคุมตัวเองอยู่เสมอ หลักประจำใจทั้ง ๕ นี้ถูกนำมาบังคับในรูปแบบศีล ๕ เป็นข้อควรงดเว้น คือเว้นจากการเบียดเบียนรังแกกัน เว้นจากการละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น เว้นจากการประพฤติผิดเพสสัมพันธ์กับบุคคลต้องห้าม เว้นจากการพูดที่มีผลเสียหาย และเว้นจากการประทุษร้ายสติปัญญาของตนเองโดยการเสพสิ่งเสพติดมึนเมา จริยศาสตร์ขั้นต้นนี้เป็นกฎการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมมีจุดหมายเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม
จริยศาสตร์ระดับสูงได้แก่มรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักปฏิบัติวิธีทางกาย วาจา และใจไปพร้อมๆกัน เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องอันมุ่งตรงต่อจุดหมายที่สูงสุดของศาสนาพุทธคือนิพาน ซึ่งเป็นสภาพจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะได้กำจัดสาเหตุของความทุกข์หมดสิ้นแล้ว คือกิเลสทั้งหลาย รายละเอียดของมรรค คือ มีทัศนะที่ถูกต้อง มีความคิดริเริ่มที่ถูกต้อง การพูดที่ถูกต้อง การกระทำที่ถูกต้อง การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง มีความเพียรพยายามในทางที่ดี มีสติควบคุมตัวเองอยู่เสมอ และฝึกจิตให้หมดจดจากกิเลส
จริยศาสตร์ในศาสนาเชน
จุดหมายสูงสุดของศาสนาเชนคือ โมกษะ ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง จะบรรลได้ด้วยการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัดตามหลัก ๓ ประการพร้อมๆกัน คือมีความเชื่อถือที่ต้องแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องและปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด
จริยศาสตร์ตามหลักศาสนายิว คริสต์
จุดหมายสูงสุดของศาสนายิว คริสต์ คือการบรรลุถึงความรอด หรืออณาจักรพระเจ้าซึ่งบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติหน้าที่เป็นเทวบัญญัติอย่างเคร่งครัด ๓ ประการ ที่รู้กันกันว่าบัญญัติ ๑๐ ประการ คือหน้าที่ของพระเจ้าคือข้อ ๑-๔ หน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ได้แก่บัญญัติข้อที่ ๖-๙และหน้าที่ต่อตนเองได้แก่บัญญัติข้อ ๑๐ ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเอง
จริยศาสตร์ในศาสนาอิสลาม
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาอิสลามคือการบรรลุถึงสวรรค์ ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักจริยศาสตร์ที่เน้นศรัทธาเป็นสำคัญ คือ เกรงกลัวอัลเลาะฮ์ สำหรับการปฏิบัติตามหลักเบื้องต้น คือ อิสลาม ๕ ข้อ เป็นการปฏิบัติการภักดีต่อพระเจ้า คือ ๒-๒ ได้แก่การกล่าวคำนมัสการพระเจ้าและไหว้พระวันละ ๕ หน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คือข้อ ๓ การพัฒนาตนเองและทดสอบศรัทธาคือข้อ ๔ ถือศีลอด และการปฏิบัติภักดีต่อพระเจ้าและการแสดงภราดรข้อ ๕ ประกอบพิธีฮัจญ์
จริยศาสตร์ในลัทธิเต๋า
หลักจริศาสตร์ของเล่าจื้อดังที่ปรากฎในคำถีร์เต๋าเต็งเก็งที่สำคัญมีดังนี้
๑. ความโลภเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์
๒. บุคคลพึงเอาชนะความกลัวด้วยความดีของตน
๓. ผู้ที่รู้จักตัวเองดีแล้ว เป็นผู้ที่ตื่นแล้ว
๔. ผู้ที่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต คือผู้ที่รู้จักคนอื่นป็นอย่างดี
๕. คุณธรรมอันประเสริฐสุดที่บุคคลพึงปฏิบัติ คือ ความมัธยัสถ์ ความเมตตากรุณา และความอ่อนน้อมถ่อมตน
จริยศาสตร์ในลัทธิขงจื้อ
ขงจื้อ เน้นหลักการที่คนในสังคมจะพึงปฏิบัติต่อกัน เช่นหลักมนุษย์สัมพันธ์ที่ว่า "ถ้าท่านต้องการให้คนอื่นปฏิบัติต่อท่านอย่างไร จงทำเช่นนั้นกับเขาก่อน" หมายความว่า เราต้องลงทุนไปก่อนจึงจะได้รับการปฏิบัติตอบเป็นกำไร
ขงจื้อสอนหลักจริยศาสตร์ ๕ ประการคือ ความชอบธรรม ความเมตตา ความเหมาะสม ความรอบรู้ และความเป็นคนที่เชื่อถือได้
บุคคลในสังคมมี ๕ คู่ พึงปฏิบัติต่อกันดังนี้
๑. ผู้ปกครองแสดงความนับถือราษฎร และราษฎรแสดงความจงรักภักดีตอบ
๒. มิดามารดามีความเมตตากรุณาต่อบุตร บุตรพึงแสดงความกตัญญูตอบ
๓. สามีพึงเป็นผู้มีคุณธรรมที่เหมาะสม ภรรยาพึงเชื่อฟังสามี
๔. พี่พึงว่างตัวให้เหมาะสมกับเป็นพี่ น้องพึงเคารพพี่
๕. เพื่อนพึงทำตัวให้เป็นที่เชื่อถือต่อกัน วางใจกันได้
จริยศาสตร์ในศาสนาชินโต
ศาสนาชินโตมีหลักปฏิบัติตน ๖ ประการคือ
๑. เชื่อฟังคำสอนของเทพเจ้า
๒. ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ด้วยความเชื่อสัตย์
๓. เคารพบรรพบุรุษของตน
๔. กล้าหาญและเสียสละ
๕. ไม่โลภในทรัพย์สินของผู้อื่น
๖. ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่ริษยาผู้อื่น
ประโยชน์ของการศึกษาจริยศาสตร์
๑. ทำให้ผู้ศึกษารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด และอะไรควรทำ อะไร ไม่ควรทำ เพราะว่าดี ถูก ควร เป็นมาตรการประเมินคุณค่าของมนุษย์ เป็นมาตรการที่สังคมยอมรับกันแล้วเมื่อรู้แล้วก็ควรยึกถือเป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนให้สูงขึ้น และเพื่อความสงบสุขความเจริญก้าวหน้าของสังคม
๒. ทำให้บุคคลปรับความประพฤติของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานแห่งคุณค่าทาง จริยศาสตร์เป็นการพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น เป็นคนมีวัฒนธรรม จึงมีชีวิตที่ประเสริญกว่าสัตว์โลกประเภทอื่น จริยศาสตร์จึงเป็นวิชาที่เน้นเฉพาะคุณภาพของชีวิตเท่านั้น
๓. การศึกษาจริยศาสตร์ทำให้บุคคลรู้จักคุณค่าของชีวิตว่าคุณค่าของความเป็นคนอยู่ที่ไหนแล้วปฏิบัติตามคุณค่าที่ตนปรารถนา ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย คุ้มค่าที่จะอยู่ต่อไป
๔. การศึกษาจริธรรมเป็นการศึกษาถึงกฎธรรมชาติของชีวิต เพราะกฎทางจริยธรรมเป็นแห่งความจริงของชีวิตเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการ เพราะจะทำให้ชีวิตสมบูรณ์ ในที่สุดก็จะรู้สึกซาบซึ้งว่าชีวิตที่แท้จริงนั้นต้องการอะไรกันแน่ อะไรคือสาระสำคัญของชีวิต
อ้างอิง
ปรัชญาเบื้องต้น ผศ.สุเมธ เมธาวิททยกูล, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2534 สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พิมพ์ที่ โอ. เอส. พริ้นตริ้ง เฮ้าส์ หน้า 69-79
สมัครสมาชิก บทความ [Atom]
แสดงความคิดเห็น